กูรูการเงิน ประสานเสียงดอกเบี้ยนโยบายไทยถึงจุดสิ้นสุดขาขึ้น มองปีนี้จบที่ 1.75% เป็น Terminal Rate เชื่อ กนง. 29 มี.ค.ปรับขึ้นอีก 0.25% เป็นรอบสุดท้าย หลังเฟดส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับทิศทางเงินเฟ้อไทยชะลอตัว คาดเข้าสู่กรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% ได้กลางปีนี้
สถาบัน การเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับแล้ว - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย + 0.25% 1.75% - สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย + 0.25% 1.75% - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา + 0.25% 1.75% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 1.50% ไปสู่ 1.75% และน่าจะเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ จาก 2 เหตุผลหลัก คือ 1.แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนก.พ. ที่เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยชะลอตัวลงมาเหลือ 3.79% จากเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.02% ส่วนเหตุผลที่ 2 คือ แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณเตรียมหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ กนง.ที่วางกรอบไว้ที่ 1-3% จึงยังทำให้ กนง. ยังจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อีก 0.25% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้ กนง.จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า "แนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลง และการที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วนั้น จึงทำให้มองว่าในการประชุม กนง.รอบนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.75% โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% จะเป็น terminal rate สำหรับปีนี้แล้ว" น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ทั้งนี้ ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอน โดยคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพด้านการเงินในระยะข้างหน้า ท่ามกลางปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย แล้วส่งผลให้เฟด อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ซึ่งคงต้องติดตามว่า กนง. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้ จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 1.75% โดยมองว่ายังมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ย่อตัวลง เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. อย่างไรก็ดี แม้ทิศทางเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ก็อาจจะไม่ลงอย่างต่อเนื่อง จากผลของภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว อาจดันให้ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยต้นทุนสินค้า ที่ผู้ผลิตยังปรับขึ้นราคาได้ไม่ครอบคลุมในปีที่ผ่านมา จึงอาจทยอยปรับขึ้นราคาส่วนที่เหลือภายในปีนี้ ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ และทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ กนง.จะต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัจจัยที่กระแสการเงินทั่วโลกยังมีความเสี่ยง หลังจากหลายธนาคารในต่างประเทศประสบปัญหาต้องปิดกิจการ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น นายอมรเทพ มองว่าการประชุม กนง.ในรอบ 29 มี.ค. จะจบรอบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยสำหรับปีนี้ได้ โดยระดับ 1.75% น่าจะเป็น terminal rate สำหรับปีนี้แล้ว จากเดิมที่เคยมองไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีจะไปจบที่ 2.00% แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีโอกาสที่ กนง.จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปอีก หากมีสัญญาณเข้ามากระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับไปพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น กำลังซื้อในประเทศขยายตัวดี และการส่งออกพลิกกลับมาดี รวมทั้งหากเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง ก็อาจจะทำให้เฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าที่ประชุม กนง. รอบนี้ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากปัจจุบันที่ 1.50% มาเป็น 1.75% เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ในระยะข้างหน้า พร้อมกันนี้ มองว่า มติกนง.ดังกล่าว มีโอกาสจะออกมาแบบไม่เป็นเอกฉันท์ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณสำหรับการหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม กนง.รอบถัดไปอีก 2 เดือนข้างหน้า ที่จะมีการประชุม กนง.อีกครั้งในปลายเดือนพ.ค.66 "รอบประชุมที่ห่าง เปิดทางความไม่แน่นอนจากภายนอก (ภาคธนาคาร) และภายใน (รัฐบาลใหม่) ค่อนข้างสูง จึงคิดว่าถ้ารอบนี้ ที่ประชุม กนง.เสียงแตก ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%" น.ส.รุ่ง กล่าว พร้อมประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% จะเป็น terminal rate สำหรับปีนี้แล้ว เนื่องจากมองว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงหลังจากนี้จะเริ่มทยอยปรับลดลง และน่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายของกนง.ในช่วง 1-3% ได้ราวเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.นี้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสจะไม่เกินระดับ 3% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.พ.66 อยุ่ที่ 3.79% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองว่า เครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้นโยบายการเงินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ธปท.ต้องใช้ "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" เป็นเครื่องมือและกลไกส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงิน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่ไปรบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้ และสัดส่วนหนี้สินเทียบกับผลผลิตในทุกระดับของระบบเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งภาคครัวเรือน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินโลก จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 มี.ค.นี้