สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัว 2.71% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.65 จากปัจจัยสำคัญ คือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์ การกลั่นน้ำมัน รถจักรยานยนต์ รองเท้า และกระเป๋า
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนก.พ.66 อยู่ที่ 61.87
"ดัชนีฯ ยังอยู่ในช่วงขาลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในหลายรายการ ส่วนในเดือนหน้าคาดการณ์ว่าจะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย" นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยพยุงดัชนีฯ ไว้มาจากตลาดในประเทศ รวมถึงหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ได้แก่
- น้ำตาล ขยายตัว 23.46% จากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่พิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา
- รถยนต์ ขยายตัว 6.64% จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีการขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและส่งออก หลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลายรุ่น ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น
- การกลั่นน้ำมัน ขยายตัว 7.33% จากการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 44.57% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยในปีนี้มีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงมีการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของประเทศคู่ค้า เช่น อินเดีย จีน เป็นต้น
- จักรยานยนต์ ขยายตัว 27.99% จากความต้องการของตลาดในประเทศ และการส่งออก ประกอบกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตคลี่คลายมากกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ สศอ.ได้คาดการณ์ด้ชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.66 จะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์สินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศสำคัญของโลก ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะที่การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และค่าระวางเรือปรับตัวลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ รายจ่ายของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น วิกฤตการเงินและเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศพันธมิตร