โพลล์ผู้บริหาร ส.อ.ท.เชียร์รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานอย่างด่วนภายใน 90 วันแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2023 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 27 ในเดือนมีนาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ "สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก" พบว่า สิ่งที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เร่งดำเนินการภายใน 90 วันแรกของการทำงาน คือ 1.การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล

ตามด้วย 2.การทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ, 3.การออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น, 4.การสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตาม ทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน และ 5.ปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย

  • ปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง

อันดับ 1 จำนวน 77.8% เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล

อันดับ 2 จำนวน 70.0% เสนอให้ปรับลดอัตราค่า Ft ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ

อันดับ 3 จำนวน 50.6% เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน)

อันดับ 4 จำนวน 49.6% เสนอให้เอกชนขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้งานผ่านระบบส่ง/จำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯ เข้าระบบ (Net Metering)

  • ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงและการสร้าง Supply Chain Security

อันดับ 1 จำนวน 65.3% เสนอให้ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ

อันดับ 2 จำนวน 58.3% เสนอให้ลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียมด้านศุลกากร และส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เช่น National Digital Trade Platform (NTDP)

อันดับ 3 จำนวน 54.6% เสนอให้จัดทำแผนพัฒนาและรองรับปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นของประเทศ

อันดับ 4 จำนวน 49.6% เร่งให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าที่สามารถหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลัก Circular Economy

  • ปัญหาต้นทุนทางการเงินในภาคธุรกิจ

อันดับ 1 จำนวน 60.0% เสนอให้ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

อันดับ 2 จำนวน 59.5% เสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ

อันดับ 3 จำนวน 58.35% เสนอให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน

อันดับ 4 จำนวน 55.0% เสนอให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อ Supply Chain Finance ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับ SMEs

  • ปัญหาแรงงาน

อันดับ 1 จำนวน 65.85% เสนอให้สนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน

อันดับ 2 จำนวน 65.1% เสนอให้จัดสรรงบประมาณในการ Up-skill/Re-skill/Multi-skill/Future-skill บุคลากรให้เหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่

อันดับ 3 จำนวน 63.0% เสนอให้กำหนดการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (Labour Productivity) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาบุคลากรจากทุกภาคส่วน

อันดับ 4 จำนวน 48.5% เสนอให้พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big data เพื่อวางแผนพัฒนากำลังคน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

  • ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

อันดับ 1 จำนวน 74.75 เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย

อันดับ 2 จำนวน 62.15 เสนอให้ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูล

อันดับ 3 จำนวน 58.3% เสนอให้ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายและตรวจติดตามผล

อันดับ 4 จำนวน 55.5% เสนอให้เร่งรัดหน่วยงานภาครัฐในการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้สำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 427 ท่าน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และได้ส่งมอบรายงานข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นการบ้านสำคัญให้กับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ