กนง.เกาะติดเงินเฟ้อห่วงผลกระทบส่งผ่านต้นทุน ไม่ฟันธงหยุดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2023 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนง.เกาะติดเงินเฟ้อห่วงผลกระทบส่งผ่านต้นทุน ไม่ฟันธงหยุดขึ้นดอกเบี้ย

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จะคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วง 1-3% ได้ในช่วงกลางปีนั้น แต่ยังต้องจับตาแนวโน้มเงินเฟ้อต่อไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อได้มากนัก จึงทำให้มีเงินเฟ้อค้างอยู่ในระบบ ดังนั้นภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะส่งผ่านต้นทุนเพิ่มขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากผลของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งจะทำให้มีการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็จะเป็นอีกแรงส่งให้เงินเฟ้อมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้

* ไม่ฟันธงดอกเบี้ย 1.75% เป็น terminal rate ปีนี้

เลขานุการ กนง.กล่าวด้วยว่า จากภาพรวมที่เศรษฐกิจไทยที่ยังมีแรงส่งดี ประกอบกับเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจคือ การทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ ซึ่งยังต้องมีกระบวนการถอนคันเร่งต่อไป (การปรับขึ้นดอกเบี้ย) ส่วนจะขึ้นไปจนถึงจุดใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

"กนง. ไม่ได้มองว่าจะหยุดตรงไหน (หยุดขึ้นดอกเบี้ย) แต่ข้อมูลที่มีตอนนี้ ยังต้องทำให้ Normalize ซึ่งก็ได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อดูแลความเสี่ยงต่างๆ ส่วนจะหยุดตอนไหน คงต้องดูข้อมูลในระยะต่อไป" นายปิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า กนง.ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่เดือน ส.ค.65 ซึ่งเป็นการทยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินลงให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงแรกๆ ก็เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่สะดุด ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป ก็เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

"กนง.มองว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ...การปรับดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นการดำเนินการนโยบายที่เหมาะสม นโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจ การที่เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งดี อัตราเงินเฟ้อแม้จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง กระบวนการ normalization จึงยังต่อทำต่อเนื่อง" นายปิติ กล่าว

ส่วนเม็ดเงินในการใช้จ่าย จากผลของกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงนี้ จะมีผลให้เพิ่มความเสี่ยงด้านสูงต่อเงินเฟ้อหรือไม่นั้น นายปิติ กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อหลักๆ จะมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีอุปสงค์เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเร็วกว่าคาด

*บาทผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่ไม่มีนัยสำคัญ

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น นายปิติ ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีความผันผวนจริง แต่เป็นความผันผวนแบบมีเหตุมีผล ทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศ มาจากความไม่แน่นอนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมีผลต่อทิศทางค่าเงินทั่วโลก รวมทั้งปัญหาความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรปช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ มาจากภาคท่องเที่ยวที่ได้อานิงส์หลังจีนเปิดประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยในเชิงบวก แต่ก็มีปัจจัยเชิงลบจากที่สภาพัฒน์เผย GDP ปี 65 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ดังนั้นจากปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ จึงทำให้เงินบาทมีความผันผวนมากกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา

"ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนมากกว่าปกติ แต่ก็มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่...ค่าเงินบาท ยัง in line กับภูมิภาค ไม่ได้ฉีกไปมาก แม้จะมากกว่านิดหน่อยจากปัจจัยในประเทศ แต่ในภาพรวม ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนแบบที่มีนัยสำคัญ" นายปิติ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ