กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.66 พบว่า มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 22,376 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7% ส่วนมูลค่าการนำเข้า อยู่ที่ 23,489 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.1% ส่งผลให้ในเดือนก.พ. ไทยขาดดุลการค้า 1,113 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.66) มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 42,625 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6% มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 48,388 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.3% ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 5,763 ล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์ ยังประเมินด้วยว่า การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ จะหดตัวราว 8% ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้า เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายังมีสต็อกสินค้าอยู่ในปริมาณสูง จึงทำให้ชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทย ประกอบกับเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1 ปี 65) ที่มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นถึง 14.7%
โดยการส่งออกยังมีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป ทิศทางการส่งออกจะเริ่มดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2%
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับการส่งออกในเดือนก.พ. หากแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า พบว่า
- กลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,883 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.5% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง, ทุเรียนสด, ลำไยสด, ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง, ข้าว, ทุเรียนแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
- กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,024 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, น้ำตาลทราย เป็นต้น
- กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.2% โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) , รถยนต์, รถจักรยานยนต์, หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออกของไทยที่ขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรกในเดือนก.พ. ได้แก่ อันดับ 1 ตลาดซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 56.2% อันดับ 2 บรูไน ขยายตัว 45.2% อันดับ 3 ฮ่องกง ขยายตัว 28.6% อันดับ 4 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 23.8% และอันดับ 5 แอฟริกาใต้ ขยายตัว 22.2%
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังเป็นตัวสนับสนุนสำคัญต่อการส่งออกของไทย คือ 1. ประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการซื้อสินค้าเกษตร และอาหารเพิ่มขึ้นตามปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงหาแหล่งน้ำเข้าทดแทนจากประเทศคู่แข่งของไทยที่ลดการส่งออก 2.การยกเลิกนโยบาย Zero Covid ของจีน และ 3.ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายมากขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยลบที่ท้าทาย คือ ค่าครองชีพที่สูงจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศผู้นำเข้า และภาคการผลิตโลกยังมีแนวโน้มที่เปราะบาง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการ และการท่องเที่ยว จะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป
"ไตรมาสแรก ตัวเลขการส่งออกน่าจะยังติดลบ เพราะสต็อกที่ยังมีค้างอยู่ ทำให้ต่างประเทศชะลอการนำเข้า ส่วนไตรมาส 2 ก็น่าจะยังติดลบได้ต่อ แต่คาดว่าครึ่งหลังปีนี้ น่าจะมีผลในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งกรมฯ จะเร่งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3" นายภูสิต ระบุ
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือนก.พ. ที่หดตัวนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีปัจจัยจากค่าครองชีพสูง และภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง
"จากที่ได้หารือเบื้องต้นกับผู้ส่งออก คาดว่าไตรมาสแรก ส่งออกไทยจะติดลบราว 8% เพราะเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่การส่งออกขยายตัวถึง 14.7%" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ