ธปท.ระบุ เศรษฐกิจ ก.พ.66 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามส่งออก-บริโภคลงทุน-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2023 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ. 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน

ส่วนภาคบริการปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผัก และผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลการดุลการค้าเป็นสำคัญ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในเดือนก.พ.66 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.1% ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลและน้ำมันปาล์มดิบ ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับอุปทานของประเทศผู้ส่งออกหลักลดลง และการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ โลหะและเครื่องใช้ไฟฟ้าตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ (1) หมวดเคมีภัณฑ์ตามอุปสงค์จากจีนและในประเทศที่เพิ่มขึ้น (2) หมวดปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบการผลิตและส่งออกสินค้า และ (4) หมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาล ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง เนื่องจากมีการเร่งผลิตรถกระบะไปมากในช่วงก่อนหน้า

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างทรงตัว จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน หลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมาไทยได้ และนักท่องเที่ยวอินเดียหลังทางการยกเลิกมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากไทยต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ

นายสักกะภพ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งดูจากความสามารถในการรองรับของจำนวนเที่ยวบิน ประกอบกับมีการค้นหาข้อมูลโรงแรม-ที่พัก และสายการบินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งข้อมูลช่วงครึ่งแรกของเดือนมี.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 76,000 คน/วัน ดีขึ้นจากเดือน ก.พ.ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 73,000 คน/วัน ซึ่งทำให้ธุรกิจในภาคบริการได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งสินค้า เป็นต้น

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานด้านการศึกษาที่เร็วกว่าปกติ และตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.พ. อยู่ที่ 3.79% ลดลงจากระดับ 5.02% เดือนม.ค. โดยเงินเฟ้อลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผัก และผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์ จากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่า หลังตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือนมี.ค. เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดเริ่มมองว่าเฟดอาจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว จากความกังวลในปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ

นายสักกะภพ ยังกล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.66 คาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ในระยะต่อไปยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปัญหาสถาบันการเงินทั้งในฝั่งของสหรัฐฯ และยุโรป 2. ผลของการเปิดประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และ 3. การส่งผ่านต้นทุนสินค้าของผู้ประกอบการที่อาจจะทยอยเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนสินค้าของผู้ประกอบการในปีที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้เต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ