กรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลก ออกมาเรียกร้องให้ยุติการขยายการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันในเขตป่าดิบชื้นและป่าพรุในประเทศอินโดนีเซียเป็นการชั่วคราว โดยกล่าวเตือนว่าความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นกำลังจะส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
กรีนพีซระบุว่า จากการสำรวจสภาพป่าดิบชื้นและป่าพรุของอินโดนีเซียเป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดได้ถูกทำลายลง ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของบรรดาผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ บริษัทเครื่องสำอาง และผู้ผลิตอาหาร
องค์กรสิ่งแวดล้อมชื่อดังระบุในแถลงการณ์ว่า วิธีเดียวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ ก็คือการเลิกปลูกปาล์มน้ำมันในเขตป่าดิบชื้นและป่าพรุเป็นการชั่วคราว
กรีนพีซกล่าวหาว่า ยูนิลีเวอร์ บริษัทสัญชาติอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสินค้าอุปโภคอุปโภคและเป็นบริษัทที่บริโภคน้ำมันปาล์มมากที่สุดรายหนึ่งของโลก เป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังความเสื่อมโทรมของป่าดิบชื้นและป่าพรุในจังหวักกาลิมันตันกลางบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย โดยชี้ว่ายูนิลีเวอร์บริโภคน้ำมันปาล์มหรืออนุพันธ์ของน้ำมันปาล์มในปริมาณถึงปีละ 1.3 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากอินโดนีเซีย
ข้อมูลจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า บรรดาซัพพลายเออร์ของยูนิลีเวอร์เป็นต้นเหตุที่ทำให้การปลูกปาล์มน้ำมันขยายตัวอย่างรวดเร็วในจังหวัดกาลิมันตันกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตังที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที และความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าในอินโดนีเซียถือเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า มีแนวโน้มที่อินโดนีเซียจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่มาเลเซีย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่ามาเลเซียจะผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 15.82 ล้านตันในปี 2550 ขณะที่ผลผลิตของอินโดนีเซียในปีเดียวกัน คาดว่าจะอยู่ที่ 16.4 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตของทั้งสองประเทศร่วมกันคิดเป็น 85% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลก
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปาล์มได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากอุปสงค์ที่ทะยานขึ้นทั่วโลก สวนทางกับอุปทานที่ตึงตัว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--