นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจประเด็นการเลือกตั้งปี 66 ถึงความคาดหวังของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้ประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 8 จากคะแนนเต็ม 10 แสดงให้เห็นว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้มีความท้าทาย และน่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 90% ที่ตอบว่าวางแผนจะออกไปเลือกตั้ง ส่วนเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ และคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ การที่ประชาชนกังวลเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะโตไม่ถึง 3% จากปัญหาการส่งออกที่ยังชะลอ ปัญหาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ โดยจากการสอบถามหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวและการค้าขาย ฟื้นจากระดับก่อนโควิด 60-80% เท่านั้น
สำหรับเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีเม็ดเงินตั้งต้นอยู่ที่ 50,000-60,000 ล้านบาท จะผลักระบบเศรษฐกิจให้เงินสะพัดประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาท และส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.0-1.5% ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2/66 จะขยายตัวได้ 4%
อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย ยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 66 คาดโต 3-4% และส่งออกโต 1% แต่ก็มีความกังวลว่าการส่งออกมีโอกาสติดลบ โดยในเดือนก.พ. 66 การส่งออกติดลบประมาณ 4% แต่ถ้ามองแบบเดือนต่อเดือน การส่งออกมีแนวโน้มค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจฟื้นในไตรมาส 4/66
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ควรมีการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็ว และเข้าสู่กระบวนการของการทำงบประมาณ และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นไปตามวาระ ซึ่งคาดว่าใช้เวลานาน ดังนั้น ในเดือนส.ค. 66 ที่ได้รัฐบาลใหม่ จะต้องประกาศนโยบายต่อสภาฯ ซึ่งขั้นตอนการผ่านการประชุมครม. และเรียงงบประมาณ อาจมีการดีเลย์การใช้งบประมาณจากต้นเดือน ต.ค. 66 ไปเป็นต้นปี 67 ซึ่งเป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลใหม่ต้องบริหารงบประมาณให้มีความคล่องตัว
"ต้องดูว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/66 จะเป็นอย่างไร ในไตรมาส 3/66 การท่องเที่ยวและการส่งออกจะกลับมาพยุงเศรษฐกิจหรือไม่ และในไตรมาส 4/66 การท่องเที่ยวที่โดดเด่นจะฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะมีสุญญากาศระหว่างไตรมาส 3/66 ขณะจัดตั้งรัฐบาล แต่งบประมาณที่ใช้ในไตรมาส 3-4/66 รัฐบาลใหม่ต้องผลักออกไปให้เร็ว เพื่อให้เงินสะพัด โดยไตรมาส 4/66 เป็นช่วงสุญญากาศที่งบยังไม่ออก การใช้งบปีเก่าไปก่อน น่าจะเป็นช่องทางที่เร่งโครงการที่ผูกพัน หรือจัดทำงานที่สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะโต" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการที่กลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันว่า อาจทำให้ราคาน้ำมันในระยะสั้นสูงขึ้นแตะ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะเดียวกัน มองว่าในระยะสั้น และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกซึมและน้ำมันแพง ไม่น่าขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ระดับดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐโลกค่อยๆ ฟื้น ซึ่งเป็นไปได้ในกรอบปานกลาง
สำหรับประเทศไทย หากราคาน้ำมันแพง ก็ยังมีแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาท/ลิตร และเบนซินราคายังไม่สูงมาก ดังนั้น เนื่องจากไทยเคยเจอสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 120 ดอลลาร์/บาร์เรลมาแล้ว จึงมองว่าขณะนี้ราคาน้ำมันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล เศรษฐกิจไทยยังสามารถรับมือได้