สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค.66 อยู่ที่ 107.76 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.83% ชะลอตัวลงจากเดือนก.พ. 66 และถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่ ม.ค.65 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 3.88%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมี.ค. อยู่ที่ 104.22 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.75% ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 2.24%
"เงินเฟ้อเดือนมี.ค. ชะลอตัวลง และถือว่าต่ำสุดในรอบ 15 เดือน โดยมีผลมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในกลุ่มอาหาร...คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป เงินเฟ้อจะลดลงเรื่อยๆ และน่าจะไม่เกิน 3% แน่นอน เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติที่วางไว้ 1-3%" นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
สำหรับเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.66 คาดว่ายังมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่สูงเกินระดับ 3% อย่างแน่นอน โดยจะมีปัจจัยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นปัจจัยที่ต้องกังวล เพราะไม่ได้เป็นปัจจัยจากด้านต้นทุน แต่เป็นปัจจัยด้านการใช้จ่ายจากที่มีรายได้เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการในประเทศฟื้นตัว หลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัจจัยจากเม็ดเงินในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
"แม้เดือนเม.ย. จะมีความเสี่ยงที่มีปัจจัยทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่เราไม่กังวล เพราะเป็นเงินเฟ้อจากด้านดีมานด์ ทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยดัน GDP ให้เพิ่มขึ้นด้วย" นายวิชานัน ระบุ
รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปีนี้ว่า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับฐานราคาปี 65 ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
"ในช่วงเดือนเม.ย.ที่จะมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งถ้าเม็ดเงินมีมากกว่าที่เราคาดไว้ และทำให้เงินหมุนได้หลายรอบมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่ดันให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือสูงขึ้นได้ แต่เรามองว่าเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะตั้งแต่ไตรมาส 2-4 เป็นต้นไป อิทธิพลของฐานราคาที่สูงในปีก่อน จะเป็นตัวหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่เพิ่มสูงมากแล้ว" นายวิชานัน กล่าว
รองผู้อำนวยการ สนค. คาดการณ์ว่า ไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะไม่สูงเกินกว่าระดับ 2.5% ในขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 คาดว่าจะอยู่ที่ 1% กว่าๆ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี สามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ได้
"ตั้งแต่ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะลดลงเรื่อยๆ คาดไตรมาส 2 จะไม่เกิน 2.5% ส่วนไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะเหลือแค่ 1% กว่าๆ ส่วนเงินเฟ้อรายเดือนนั้น จะเริ่มลดลงมากๆ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 1.5%" นายวิชานัน ระบุ
ดังนั้น สนค.จึงได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อสำหรับในปีนี้ลงเหลือ 1.7-2.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.2% จากเป้าหมายเงินเฟ้อเดิมที่ 2-3% รวมทั้งปรับสมมติฐานใหม่ทั้ง 3 ตัว คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ อยู่ที่ 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์ใดที่อาจจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ สนค.จะมีการพิจารณาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อของปีนี้ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2/66