นางสาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรค-เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เปิดเผยว่า นโยบายของพปชร.มุ่งเน้นการทำได้จริงไม่ใช่เป็นแค่การหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนและเมื่อทำแล้วจะมีคำตอบว่าใช้งบประมาณของประเทศหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงแหล่งรายได้ที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญนโยบายต่างๆ ของพปชร.จะมองแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการดำเนินงานและการใช้งบประมาณ
"คำว่านโยบาย ถ้าแปลกันจริงๆ ต้องเป็นเรื่องที่มองระยะยาว ประเภททำเป็นปีแล้วเลิก หรือแค่มาเขียนบนป้ายหาเสียงไว้เฉยๆ เพื่อให้ได้คะแนน แบบนี้สำหรับพปชร.เราไม่เรียกว่านโยบาย เปรียบเสมือนองค์กรเราจะเลือกผู้นำหรือทีมบริหารเราก็ต้องดูทีมดังกล่าวมีศักยภาพ มีวิสัยทัศน์อย่างไร ไม่ใช่แข่งกันว่าใครใช้เงินเก่งกว่ากัน แต่ไม่พูดเลยว่าหาเงิน รายได้จากไหนพูดแต่จะจ่ายอย่างเดียว "นางสาวนฤมลกล่าวย้ำ
สำหรับนโยบายพปชร.จะมีการสื่อสาร 2 ระดับคือชุดนโยบายจริงๆ ที่จะมีเรื่องของการหารายได้และรายได้ที่จะได้มาในการนำไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในป้ายหาเสียงอาจเห็นเพียงบางส่วนต้องมองภาพรวมทั้งก้อน ต้องคิดครบวงจรและอยากให้ทุกพรรคการเมืองคิดแบบครบวงจรจริงๆ โดยแหล่งรายได้ที่จะนำมาทำนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ ซึ่งไทยมีรายได้แต่ละปีมาจากการจัดเก็บภาษีต่างๆอยู่ 2.4-2.5 ล้านล้านบาทที่ไม่เพียงพอรายจ่ายที่มีกันอยู่ราว 3.2-3.3 ล้านล้านบาทต่อปีจะสามารถเพิ่มส่วนนี้อย่างไร โดยปัจจุบันมีการกู้อยู่ประมาณ 7 แสนล้านบาทซึ่งเงินกู้นี้ทำได้อย่างเดียวตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯ บัญญัติไว้ว่า งบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศต้องมีไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมดในร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี
ด้วยข้อจำกัดในการเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นคงยากและการกู้คงมากไปกว่านี้ไม่ได้เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ จึงมองการหาแหล่งรายได้จากทางอื่นคือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หมายถึง การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public. Private Partnership หรือ PPP)เพื่อลดภาระรายได้ที่จะได้มาจากการเก็บภาษี และอีกส่วนหนึ่งคือการใช้ศักยภาพของตลาดทุนโดยการตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งจากนักลงทุนในไทยและต่างประเทศ แล้วก็นำเม็ดเงินดังกล่าวมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เช่นการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise (SE) ก็จะทำให้เกิดธุรกิจเหล่านี้ขึ้นมากมายในประเทศ และจะทำให้ออกจากกลไกการใช้หน่วยงานราชการไปขับเคลื่อน