นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมี.ค. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-31 มี.ค. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 50.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.7 ในเดือนก.พ. 66 ทั้งนี้ ดัชนีเดือนมี.ค. กลับสู่ภาวะปกติ และค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อเดือนมี.ค. 62
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 49.0
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 50.1
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 52.7
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 49.3
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 49.5
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 48.1
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มี.ค. 66 และที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. 66 ทำให้บรรยากาศในการหาเสียงคึกคักทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีเงินสะพัด
2. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ที่เริ่ม 7 มี.ค.-30 เม.ย. 66
3. ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวไทย และธุรกิจโรงแรมคึกคักต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากการที่จีนเปิดประเทศ
4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 36.08 และ 36.35 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 33.44 บาทต่อลิตร
5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.008 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66 เป็น 34.503 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 66
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าลดลง ซึ่งรวมถึงบรรยากาศความตึงเครียดของสงคราม 2 ประเทศรัสเซียและยูเครน
2. การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 66 หดตัว 4.7% มูลค่าอยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.3% มีมูลค่าอยู่ที่ 48,388.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 5,763.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. SET Index เดือน มี.ค. 66 ปรับตัวลดลง 13.18 จุด จาก 1,622.35 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66 เป็น 1,609.17 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 66
4. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% และจะลดลงไปที่ระดับ 2.4% ในปี 2567
5. ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และในบางจังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
6. ความคาดหวังการฟื้นตัวของโควิดไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โควิดบรรเทาลง แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
7. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การล้มละลาย และความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อเสถียรภาพของภาคการเงินไทย
พร้อมกันนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ดูแลเรื่องพลังงาน ทั้งค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- การควบคุมและรักษาระดับของราคาสินค้าวัตถุดิบของผู้ประกอบการให้อยู่ในระดับต่ำ
- ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง และต้องการเข้าถึงสินเชื่อ
- มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
- กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว และสถานการณ์ของโควิดคลี่คลายลง