นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงบประมาณ มาชี้แจงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งรับฟังข้อพึงระวังต่าง ๆ
โดยเบื้องต้น สภาพัฒน์ได้รายงานสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 66 และต่อเนื่องในปี 67 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่เป็นข้อกังวลในส่วนนี้
แต่ส่วนที่ต้องเฝ้าระวัง คือการส่งออกของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องหามาตรการกระตุ้นการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยไปจนถึงปีหน้า
ด้าน ธปท. ชี้แจงถึงเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยระบุว่า หนี้ต่างประเทศของไทยไม่ได้อยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม สถาบันการเงินในประเทศมีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงไม่มีความน่ากังวลในเรื่องความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน-การคลังของไทย และที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้เยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั้งการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในช่วงต่อจากนี้ไป คงไม่ใช่การทำนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะเป็นเรื่องของการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยทำนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง ดังนั้นนโยบายที่เป็นการช่วยเหลือแบบครอบคลุมประชากรทั้งหมด อาจจะไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมกับการทำนโยบายหรือการใช้งบประมาณในช่วงต่อจากนี้ไป
ส่วนสถานการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ธนาคารกลางของหลายประเทศ ได้มีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูง หลังจากที่ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมานานในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินในต่างประเทศมีปัญหาได้ เช่น ธนาคารในสหรัฐ และยุโรป
แต่ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเหล่านี้ ซึ่ง ธปท.ชี้แจงว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐ อยู่ที่ระดับ 8.5% และในปี 2566 อาจขยับขึ้นไปเล็กน้อยที่ 8.75% ซึ่งยังไม่ได้สูงเกินมาตรฐานระดับสากลที่ 10%
ด้านกระทรวงการคลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้สุทธิ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65 - ก.พ.66) สามารถจัดเก็บได้ 990,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 10% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าที่สำคัญ คือ กรมสรรพากร ทั้งในส่วนของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่การจัดเก็บรายได้ขยายตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่สำนักงบประมาณ ได้สรุปถึงการดูแลการใช้งบประมาณปี 67 และวงเงินงบประมาณที่ผ่านรัฐสภาแล้ว 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบตามสิทธิ และงบผูกพันรวม 2.9 ล้านล้านบาท และกันไว้เป็นงบลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 20% หรือราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อหักนโยบายสวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ จะเหลือรายจ่ายของงบประมาณในส่วนราชการอีกประมาณ 2.2 แสนล้านบาท
"ซึ่งหากจะต้องนำงบประมาณมาดำเนินการตามนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอไว้ หากได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็จะต้องมีการปรับตรงนี้ ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยาก สำนักงบฯ บอกว่าตัวเลขที่จะต้องไปทำโครงการใหม่ๆ อาจจะลำบาก ดังนั้นต้องดูงบประมาณอย่างใกล้ชิด ที่จะนำมาเพื่อพิจารณาเป็นรายละเอียดในการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต เพราะส่วนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมา ได้ทำไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ส่วนเงินที่จะนำไปเป็นนโยบายใหม่ๆ อาจจะมีปัญหา" นายอนุชา กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยสรุปแล้ว ทั้ง 4 หน่วยงาน เห็นพ้องว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน คือ การดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับปัจจุบัน ส่วนอนาคต ในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเป็นนโยบายพุ่งเป้าโดยตรง ไม่ใช่เหวี่ยงแหไปทุกกลุ่ม เพราะจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และวินัยการเงินการคลัง