นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เม.ย.66 อยู่ที่ 65.14 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.13 จุด หรือ 1.77% จากระดับ 64.01 จุดเมื่อเดือน มี.ค.66 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 อยู่ที่ 62.70 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.74 จุด หรือ 1.19% จากระดับ 61.96 จุดในไตรมาสแรก โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ
ศูนย์วิจัยทองคำ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน เม.ย.66 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 330 ราย ในจำนวนนี้มี 154 ราย หรือ 47% ซื้อทองคำ ส่วนจำนวน 120 ราย หรือ 36% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่ และจำนวน 56 ราย หรือ 17% ไม่ซื้อทองคำ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 6 ราย หรือ 46% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน เม.ย.66 จะเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 5 ราย หรือ 39% คาดว่าใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มี.ค.66 และจำนวน 2 ราย หรือ 15% คาดว่าจะลดลง
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน เม.ย.66 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,912-2,050 ดอลลาร์/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ ความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31,050-32,950 บาท/น้ำหนัก 1 บาททองคำ และค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 33.63-35.09 บาท/ดอลลาร์
การลงทุนทองคำในเดือน เม.ย.66 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาระบบธนาคารในสหรัฐฯ ขาดสภาพคล่อง โดยในเดือน เม.ย.ยังคงแนะนำนักลงทุนเน้นการทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคาทอง ไม่แนะนำให้เข้าซื้อทั้งหมดบริเวณแนวรับใดแนวรับหนึ่ง ควรเหลือเงินทุนเพื่อซื้อเฉลี่ยหากราคาทองหลุดแนวรับ และให้แบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น และยังคงต้องระวังแรงขายทำกำไร เมื่อราคาทองคำปรับตัวเข้าใกล้โซน 2,075 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเมื่อปี 2563