ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 29 มี.ค. 2566 ซึ่งในการประชุมดังกล่าว กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น
"จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป" รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้แรงงาน และการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวที่ 3.6% และในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.8% จากปัจจัยสำคัญ คือ
1. ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 28 ล้านคน และปี 2567 จะอยู่ที่ 35 ล้านคน
2. การจ้างงานและรายได้แรงงานปรับดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน
3. การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว จากที่หดตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
"โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ จากจำนวนและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมามากและเร็วกว่าคาด แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีความไม่แน่นอนสูง" รายงาน กนง.ระบุ
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งจะอยู่ที่ 2.9% ในปีนี้ และปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4%โดยแรงกดดันด้านอุปทาน จะทยอยลดลงตามแนวโน้มค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จาก 1) การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง และอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า 2) แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการอภิปรายกันในประเด็นที่สำคัญ เช่น
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจการเงินโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเกินกรอบเป้าหมาย จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าคาด จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมามากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของรายได้แรงงาน และส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกสินค้าอาจฟื้นตัวดีกว่าคาดเช่นกัน
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจยังมีอยู่ในระยะต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อเนื่อง และอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนบางประเภทยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงานในประเทศที่ปรับลดลงช้า จากการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน อีกทั้งผู้ประกอบการอาจปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพิ่มเติม หากเห็นว่าภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อฐานะการเงินของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่แม้รายได้ฟื้นตัวแล้ว แต่รายได้ของบางกลุ่มยังไม่กลับไปสู่ระดับช่วงก่อนการระบาด และไม่เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น จึงเห็นว่ามาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน
"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อ จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมี เสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาด และเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้" รายงาน กนง.ระบุ