กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.95-34.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.23 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายแคบๆ ในช่วง 34.20-34.39 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี
ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นขาลง แม้เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ รายงานการประชุมเมื่อวันที่ 21-22 มี.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่าผู้ดำเนินนโยบายหลายรายกังวลว่าปัญหาในภาคธนาคาร จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ลดช่วงลบท้ายสัปดาห์ หลังเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป โดยสัญญาล่วงหน้าสะท้อนว่ามีความเป็นไปได้ราว 78% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bp สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อย เป็นเติบโต 2.8% เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะปั่นป่วนในระบบธนาคาร เพิ่มความไม่แน่นอนต่อภาคเศรษฐกิจ นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง และผลกระทบจากสงครามในยูเครน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 420 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 3,465 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองภาพรวมในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/66 ของจีน รวมถึงเงินเฟ้อฝั่งยุโรป ในภาพใหญ่ มองว่าแม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป แต่มีโอกาสสูงที่จะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฎจักร ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า บ่งชี้ว่าเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางหลักหลายแห่ง
ในภาวะเช่นนี้ ประเมินว่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานในกรอบ และฟื้นตัวอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ขณะที่ท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คนใหม่ ทำให้ตลาดเลื่อนการคาดการณ์ว่าบีโอเจจะปรับนโยบาย Yield Curve Control ออกไปสร้างแรงกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าเพียงชั่วคราวเท่านั้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด และลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินไม่สามารถระบุได้ว่าดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่เท่าใด แต่คาดว่ายังต้องควบคุมความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินเฟ้อต่อไป