เอกชน ห่วงภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิต วอนรัฐลดค่าไฟต่ำกว่า 4.40 บ./หน่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2023 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชน ห่วงภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิต วอนรัฐลดค่าไฟต่ำกว่า 4.40 บ./หน่วย

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประกาศค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ที่ 98.27 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าทุกประเภทมีอัตราเดียวกันที่ 4.77 บาท/หน่วยนั้น ส.อ.ท.ได้นำเสนอรัฐบาลถึงแนวทางการแก้ไขที่จะให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วยแล้ว เนื่องจากเกรงจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน

"เราเสนอรัฐบาลผ่านกลไก กรอ.พลังงานที่ยังไม่เป็นทางการ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นห่วงเรื่องการลงทุน ที่มีข่าวจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าไฟถูกกว่ามาก คาดหวังว่าภาครัฐจะมีการทบทวนปรับลดราคาลงมา" นายวิวรรธน์ กล่าว

ขณะที่ผลกระทบจากต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้าต่อราคาสินค้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มที่ใช้พลังงานมาก เช่น กลุ่มเหล็ก แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังตรึงราคาไว้เท่าเดิม ไม่ได้รับเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าจะมีการปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิง หากจะปรับลดราคาสินค้าลงคงต้องรอให้ค่าไฟฟ้าลงมาอยู่ที่ระดับ 4 บาท/หน่วย

"การกำหนดค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกันทุกประเภท ไม่ใช่ภาคเอกชาจะเอาเปรียบภาคครัวเรือน เพราะผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหมดก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน เรียกว่าอุ้มเศรษฐกิจทั้งประเทศ" นายวิวรรธน์ กล่าว

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งนั้น นายวิวรรธน์ กล่าวว่า มุ่งหวังให้มีนโยบายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา การขยายตลาดต่างประเทศ ส่วนนโยบายประชานิยมนั้นภาคเอกชนก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่อยากให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

*เตรียมหารือกำหนดแนวทางแก้ปัญหา PM2.5

ด้าน นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า เร็วๆ นี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.เตรียมเชิญกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเกิดผลกระทบในวงกว้างจากการเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

"หากยกเลิกรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่ที่มีการเผาในประเทศเพื่อนบ้านก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์แน่นอน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศมีสูงกว่ากำลังการผลิตในประเทศ และต้องไปนำเข้าจากอเมริกาใต้" นายธนารักษ์ กล่าว

แนวทางการแก้ปัญหาคงต้องมีแผนในระระยาว โดยให้ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใช้ทำปุ๋ย ใช้ทำอาหารสัตว์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลดการเผา ซึ่งที่ผ่านมามีบางอุตสาหกรรมเริ่มกำหนดเงื่อนไขที่จะไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรที่เผาวัสดุทางการเกษตร เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ