นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการคำนวณค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 66 ทั้งในส่วนที่เป็นบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยคิดค่า Ft ในอัตราเดียวกัน ที่ 98.27 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ชี้แจงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาค่าไฟว่า สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพงเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูง และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ต้องนำเข้า LNG มาทดแทน ซึ่ง LNG มีราคาแพง เป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรป อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลัก ทำให้แม้ในช่วงน้ำมันราคาถูกกว่าก็ยังไม่สามารถใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทน LNG ได้ทันที
ในส่วนของรายละเอียดที่มาของโครงสร้างต้นทุนค่าไฟในปัจจุบัน ซึ่งค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 66 นั้น ค่า Ft จะอยู่ที่ 4.77 บาท/หน่วย ซึ่งหากแยกรายละเอียดการคำนวณจะมีส่วนประกอบจาก 6 ส่วน โดยหากเรียงลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุดตามลำดับ สามารถแยกรายละเอียดได้ดังนี้
1) ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาท/หน่วย
2) ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์/หน่วย
3) ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย
4) ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์/หน่วย
5) ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์/หน่วย
6) ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์/หน่วย
ในส่วนของค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือน เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 66) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาท/หน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงคำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาท/หน่วย แต่ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 66) เท่ากับ 5.33 บาท/หน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.- ส.ค. 66 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน
นอกจากนี้ ราคาต้นทุนพลังงานตั้งแต่ปี 66 ปรับตัวลดลง แต่ กกพ. ยังคงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณ ค่า Ft ที่ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า (65) ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ในขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เองจึงใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอด ทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น และเมื่อราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่า Ft และค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ถูกลงจะทยอยปรับลดลง ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สิน ความน่าเชื่อถือ และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้
"รัฐบาลยืนยันว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงในอนาคต อีกทั้งแนวทางที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนา และสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการดำเนินการในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การพึ่งพาเชื้อเพลิงแบบเดิมลดน้อยลง และส่งผลถึงการคำนวณค่าไฟฟ้าที่จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะประเมินสถานการณ์ และดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด" นายอนุชา กล่าว