นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องค่าไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยพยายามหาช่องทางช่วยเหลือ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ก่อนหน้านี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ชี้แจงเหตุผลที่ค่าไฟฟ้าในเดือน เม.ย.66 สูงขึ้นว่า เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ได้มาจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า
สำหรับหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าเป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
โดยค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย.66 มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ ซึ่งมักพบในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เช่น เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่ในสภาวะอากาศปกติ อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาฯ หากปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาฯ แอร์จะต้องทำงานเพื่อให้อุณหภูมิลดลง 4 องศาฯ แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิภายนอก 40 องศาฯ หากตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมที่ 26 องศาฯ แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิลงมากถึง 14 องศาฯ แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาฯ แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้รายงานสถิติปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 32,154.4 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 20.52 น.ของวันที่ 6 เม.ย.66 ด้วยอุณหภูมิ 31.2 องศาฯ เนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยร้อนจัด ส่งผลให้แต่ละบ้านเปิดแอร์และพัดลมคลายร้อนพร้อมๆ กัน แต่ยังไม่ทำลายสถิติพีคปีก่อนเมื่อวันที่ 27 เม.ย.65 เวลา 22.36 น.อยู่ที่ 32,254.5 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 32.0 องศาฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินพีคในปีนี้จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ต่ำกว่า 34,000 เมกะวัตต์ หากรวมกับไฟฟ้าของเอกชนที่ผลิตเพื่อใช้เอง (ไอพีเอส) อีก 5,000 เมกะวัตต์แล้ว ความต้องการไฟฟ้าของประเทศในปีนี้อาจสูงถึง 39,000 เมกะวัตต์
กฟน.มีข้อแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนคือ การยึดหลัก "ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน" โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาฯ พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะช่วยให้ประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ให้ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน
"รัฐบาลจึงเชิญชวนประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในทุกรูปแบบ เพื่อลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ และจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้ตัวเองและครอบครัว" นายอนุชา กล่าว