นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้
1. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List ) มีโครงการที่ ครม.อนุมัติหลักการแล้ว รวม 5 โครงการ โดยทุกโครงการมีความก้าวหน้า ดังนี้
(1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน
(2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ เช่น ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย
(3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เช่น มีการถมทะเล มีการสร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ
(4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล เป็นต้น
(5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) มีการชะลอโครงการ เนื่องจาก การบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีสถานะเป็นเอกชน
2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีการจัดตั้ง ไปแล้ว 7 เขต เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีการประกาศจัดตั้งแล้ว รวม 28 เขต เช่นนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์น เป็นต้น ทุกแห่งได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว
3. แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่
1) พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 2) พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3) พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4) พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอ รวม 30 อำเภอ ในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567
4. ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd อาทิ มีการก่อสร้างกลุ่มอาคารในการพัฒนาพื้นที่ของ EECi เพื่อรองรับพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และ โครงการ EECd มีการจัดโซนนิ่งเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
5. การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC - OSS) เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ EEC รวม 44 งานบริการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขอขยายกิจการ และการต่ออายุใบอนุญาต มีการดำเนินงานร่วมกับ อปท. และร่วมกันพัฒนางานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่
6. การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนจำนวน 18 ประเทศทั่วโลกและหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรสาธารณรัฐฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น โดยเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 1 แนวคิด คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว
7. การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่
8. แผนงานบูรณาการ EEC ขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ สานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับ ความต้องการของอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับ การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ
9. ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผน และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC อาทิ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G
10. กองทุนพัฒนาอีอีซี มีการดำเนินการ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบโครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเป็นต้น
11. ระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบข้อบังคับประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC มีผลบังคับใช้แล้วรวม 10 ฉบับ