สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 104.65 หดตัว 4.56% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 65 แต่ขยายตัว 5.47% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน
สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาส 1/66 หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.94% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจัยสำคัญ คือ ความต้องการซื้อจากต่างประเทศชะลอตัว โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น (1 ม.ค.-31 มี.ค. 66 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมอยู่ที่ 6.46 ล้านคน แบ่งเป็นเดือนม.ค. 2.14 ล้านคน, ก.พ. 2.11 ล้านคน และมี.ค. 2.20 ล้านคน)
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนมี.ค. 66 อยู่ที่ 66.06% ไตรมาสแรกของปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.66%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 66 ว่า มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามการบริโภคและการท่องเที่ยว การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ภาคก่อสร้างขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว และส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับปัจจัยภายนอก อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางปรับตัวขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น และจีน หลังเปิดประเทศ ภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของหลายประเทศ รวมถึงสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ และการลดกำลังการผลิตน้ำมัน
นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงลึก เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรม Hard Disk, สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย, ถุงมือยาง, เหล็กและเหล็กกล้า, เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเม็ดพลาสติก มีแนวโน้มการผลิตและส่งออกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ สศอ. จึงได้กำหนดจัดสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) ในช่วงเดือนพ.ค. 66 เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคที่แท้จริง และหาแนวทางมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะต่อไป