นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาของการดำเนินด้านการบริการควบคุมจราจรทางอากาศและสื่อสารการบินในอาณาเขตประเทศไทย บวท.มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการให้บริการการเดินอากาศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินเริ่มมีการฟื้นตัว แนวโน้มปริมาณเที่ยวบินค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มี เที่ยวบินรวม 450,713 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46% และคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 710,560 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 58% จากปี 2565
และคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินใกล้เคียง ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2567 ประมาณ 1,034,620 เที่ยวบิน ทั้งนี้จะมีปริมาณเที่ยวบินสูงถึง 2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2581 ดังนั้น บวท. จึงจำเป็นต้องมีความเตรียมพร้อมในด้านเทคโนโลยี ด้านบุคลากรเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเต็มกำลัง
เนื่องในโอกาสที่ บวท. ครบรอบการดำเนินงานปีที่ 75 บวท. ยังคงมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการรวมถึงเพิ่มศักยภาพระบบบริการการเดินอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินโลก อีกทั้งเปิดรับความท้าท้ายเตรียมรับมือกับภารกิจบทใหม่ อันจะก่อให้เกิดความสำเร็จ ความมั่นคง และความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด AEROTHAI Next Chapter ประกอบด้วยโครงการสำคัญอาทิ โครงการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการการเดินอากาศ ณ สนามบิน อู่ตะเภา, โครงการพัฒนาระบบบริหารจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (UAS Traffic Management: UTM) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ห้วงอากาศร่วมกัน, โครงการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) ในพื้นที่ ECC ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจใน EEC ตามแนวทาง การพัฒนาเมืองการบิน (Aerotropolis), โครงการพัฒนาห้วงอากาศที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศหรือ Metroplex เพื่อพัฒนาห้วงอากาศของกลุ่มสนามบินที่มีสภาพการจราจรทางอากาศหนาแน่นให้พร้อมรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการดำเนินงานตามแนวคิด CANSO Green ATM เพื่อเพิ่มการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน
การดำเนินการอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 75 บวท. พร้อมก้าวต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพการให้บริการการเดินอากาศให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมสนับสนุนเชื่อมโยงความหลากหลายของการขนส่งสมัยใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน