นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินของผู้ประกอบการ SME ในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 โดยสอบถามผู้ประกอบการจำนวน 2,670 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-25 มี.ค.66 พบว่า ผู้ประกอบการ 63.7% มีภาระหนี้สินในกิจการ
โดยผู้ประกอบการ 10.3% ชำระหนี้สินเสร็จสิ้นแล้วในไตรมาสที่ 1/2566 และอีก 53.4% ยังคงมีภาระหนี้สินอยู่ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา 44.7% แหล่งกู้ยืมเงินของธุรกิจ 86.1% มาจากสถาบันการเงิน ส่วนอีก 13.9% มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องมากที่สุด
สำหรับการกู้ยืมนอกระบบสถาบันการเงิน พบว่า อยู่ในภาคธุรกิจการเกษตรและภาคการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) รองลงมา คือ การค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคและบริการซ่อมบำรุง โดยวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน คือ นำมาหมุนเวียนในกิจการมากที่สุด รองลงมาคือลงทุนในกิจการและชำระหนี้เดิม ซึ่งต่างจากไตรมาสก่อนหน้าที่การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะใช้ในการซ่อมแซมหรือตกแต่งสถานประกอบการ
ภาระหนี้สินทั้งหมดของธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท มีระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 3 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่าภาระหนี้สินทั้งหมดของธุรกิจรายย่อย (กลุ่ม Micro) มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจขนาดอื่นๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ SME ส่วนใหญ่ได้รับอยู่ในช่วง 6-8% โดยธุรกิจรายย่อยได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 9% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอยู่ที่ 7%
ในปัจจุบันผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและภาระหนี้สินจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นและสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดอื่นๆ และพบว่า SME 48.3% ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่มี 51.7% ที่กำลังมีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งจากการชำระผิดเงื่อนไขหรือจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ซึ่งสัดส่วนที่ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา SME มีการขอเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน/แหล่งเงินทุน โดย 7.4% ขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปรับรูปแบบการชำระหนี้
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญมากที่สุดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง การขาดข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเงินทุน และคุณสมบัติของธุรกิจไม่ผ่านตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินจึงไม่สามารถกู้ยืมได้ และสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดด้านการเงินและภาระหนี้สิน คือ การลดอัตราดอกเบี้ย และการจัดให้มีสถาบันการเงินของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กโดยเฉพาะ (เน้นที่ธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยซึ่งต้องการเงื่อนไขการขอกู้ต่างจากคุณสมบัติที่ธนาคารทั่วไปกำหนดไว้) สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เป็นต้น