การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมร่วมเพิ่มศักยภาพพัฒนาพื้นที่ สร้างโอกาสการแข่งขันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เดินหน้าสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" ประชาชนต่างชื่นชมให้กำลังใจ สนับสนุนงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนปี 71 ย้ำเป็นเส้นทางรถไฟที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท. เปิดเผยสถานะความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ภายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ และเสริมสร้างโอกาสในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในการรองรับ และเชื่อมโยงเส้นทางระบบขนส่งทางรางสายใหม่ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวเป็นจำนวนมากและสนับสนุนให้โครงการฯ เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยประชาชนพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปด้วยความราบรื่น และสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายที่การรถไฟฯ กำหนดไว้ว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 -1.30 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ นับเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง ซึ่งจะสามารถสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี รวมทั้งจะรองรับรองการเดินทาง และขนส่งสินค้าเชื่อมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323.10 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท ผู้รับจ้างได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 มกราคม 2571 (ระยะเวลา 71 เดือน) ปัจจุบันงานการก่อสร้างภาพรวมมีความคืบหน้าประมาณ 1.021% โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการได้มากกว่า 50% และจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ทั้งนี้โครงการฯ แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. และสัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม.
เส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดลำปาง) 17 อำเภอ 59 ตำบล มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง ที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด และสถานีเชียงราย