นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำเรื่องวิกฤติอาหารเป็นวาระแห่งชาติเพื่อหาทางรับมือในอนาคต เนื่องจากขณะนี้โลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติจากการที่ผลผลิตสินค้าเกษตรโลกลดลงและราคาสูงขึ้นมาก ซึ่งสหประชาชาติ(UN)เปรียบว่าเป็นสึนามิแบบไร้เสียงที่กำลังคุกคามชาวโลก
ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยข้อมูลว่าปัจจุบัน 37 ประเทศทั่วโลกเกิดวิกฤติอาหารแล้ว แบ่งเป็น แอฟริกา 21 ประเทศ, เอเชีย 10 ประเทศ, สหภาพยุโรป(EU) 1 ประเทศ และละตินอเมริกา 5 ประเทศ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรโลกในเดือนมี.ค.51 อยู่ที่ระดับ 220 จุด เพิ่มขึ้น 57% จากเดือนมี.ค.50 ที่อยู่ที่ระดับ 80 จุด และยังมีแนวโน้มว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะสูงกว่าปัจจุบันถึง 50 เท่า
สำหรับสาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นมากเป็นเพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรลดพื้นที่การปลูกพืชเพื่อการบริโภคหันไปปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้นเพื่อใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับเกิดภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายและมีปริมาณลดลง
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการนั้น ระยะสั้นจะต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มรายได้เพื่อชดเชยราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ส่วนระยะยาวต้องวางยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่ด้านการเกษตร โดยทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภคและพืชพลังงาน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยอาจเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบตัดต่อทางพันธุกรรม(GMO) และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของเกษตรกรเพื่อให้ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า ขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่าวิกฤติอาหารแต่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น และยังพอมีเวลาที่แต่ละประเทศจะช่วยกันหาทางแก้ไข เพราะหากนิ่งเฉย ภายใน 3 ปีน่าจะเป็นวิกฤติที่รุนแรง เพราะมีแนวโน้มว่าประเทศผู้ผลิตสินค้าจะปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น
"แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา คือไทยต้องจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน และพืชเพื่อบริโภคให้สมดุลกัน เพื่อทำให้ทั้งธุรกิจอาหาร และประเทศเกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้แล้ว" นายพรศิลป์ กล่าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ราคาข้าวในตลาดโลกน่าจะมาถึงจุดสูงสุดแล้ว เพราะล่าสุดญี่ปุ่นได้ยกเลิกประมูลข้าวขาว 100% จำนวน 60,000 ตัน จากที่ผู้ส่งออกไทยเสนอขายถึงตันละ 1,300 เหรียญ ซึ่งเหตุที่ยกเลิกเพราะญี่ปุ่นไม่ต้องการถูกทั่วโลกตำหนิว่าเป็นผู้ทำให้ราคาข้าวแพงขึ้น และเกรงว่าประเทศบริโภคข้าวเป็นหลักจะไม่สามารถสู้ราคาได้
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--