BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.65-34.35 จับตาเงินเฟ้อ-เพดานหนี้สหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 8, 2023 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.65-34.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.02 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.99-34.25 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 50 และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 65

อนึ่ง ดอลลาร์สหรัฐเผชิญแรงขาย ขณะที่เฟดส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยการยกเลิกข้อความที่เคยระบุในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า "คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่าการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม" อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดกล่าวว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เฟดจึงมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยยังไม่เหมาะสมในเวลานี้ ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 3.25% และยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 409 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 18,857 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) วันที่ 11 พ.ค. ซึ่งมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ระดับ 4.50% นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประชุมกับผู้นำสภาคองเกรสในวันที่ 9 พ.ค. ขณะที่รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวว่ากระทรวงการคลังอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลกลางได้ภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หากสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาล ซึ่งอาจจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและตลาดการเงินทั่วโลก

ทั้งนี้ แม้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาสดใสเกินคาด แต่เราเชื่อว่าวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ธนาคารภูมิภาคของสหรัฐฯ ที่สั่นคลอน โดยหากความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ชัดเจนมากขึ้นเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ ในภาวะเช่นนี้ มองว่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานในกรอบที่อ่อนค่าลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของไทยต่ำกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 2.67% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 1.66% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.จะต่ำกว่า 2% จากฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี โทนการสื่อสารจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่า ต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะหนึ่ง หากสถานการณ์ยังเอื้อให้ทำเช่นนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ