สกพอ.เปิดรับฟังความเห็นแผนพัฒนา TOD สถานีรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน พัทยา-ฉะเชิงเทรา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 8, 2023 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 " สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา โครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน" ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินโครงการ แนวคิดการพัฒนา และแผนการดำเนินงาน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่คือเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะประเด็นความสนใจในการร่วมโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุมด้วย

นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กล่าวว่า สกพอ. ดำเนินโครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ (EECh) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ "เมืองอัจฉริยะ" (Smart City) และสนับสนุนกิจการรถไฟความเร็วสูงและระบบขนส่งมวลชนระบบรางของกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ โดยต้องการพัฒนาเมืองแบบกระชับ และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน Transit-Oriented Development (TOD) ควบคู่กัน

การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุม และเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการฯ ได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวร่วมที่มีความสนใจในการพัฒนาโครงการฯ ร่วมกัน ทั้งในประเด็นรูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการร่วมลงทุนฯ ซึ่งในลำดับถัดไปจะมีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม สอดคล้องตรงกับความต้องการ และรูปแบบการพัฒนาโครงการของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุดต่อไปด้วย

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งหนึ่งในการต่อยอดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการพัฒนาพื้นที่ TOD ให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม พร้อมไปกับการสร้างให้พื้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยแนวทางการพัฒนา TOD จะเป็นการวางแผนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเน้นความสมัครใจและความสนใจร่วมโครงการฯ โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน

โดย สกพอ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา โดยครอบคลุม 2 ชุมชนสำคัญ ได้แก่ ชุมชนรุ่งเรือง (เมืองพัทยา) และชุมชนหนองใหญ่ (เทศบาลเมืองหนองปรือ) อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาของจังหวัดชลบุรี คือ "เมืองนวัตกรรมชั้นนำ สร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน" และ วิสัยทัศน์ของเมืองพัทยา คือ"เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน" อันเป็นการผสมผสานการพัฒนาสู่อนาคตเพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำแนวคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีพัทยาให้เป็น Transportation hub ประกอบด้วย

พื้นที่สาธารณะพื้นที่พาณิชยกรรมและกิจกรรมต่างๆของชุมชน(Community complex)พื้นที่สำหรับจอดรถบัสนักท่องเที่ยวและโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนรองท้องถิ่น เช่น รถสองแถว กับสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา เป็นต้น เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุล มีคุณภาพ และชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีฯอย่างแท้จริง

สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยาอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองพัทยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2.8 กม. อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย 8 กม. อยู่ห่างจากมอเตอร์เวย์ 500 เมตรและถนนสุขุมวิท 600 เมตร ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 45 กม. (เวลา 17 นาทีด้วยรถไฟความเร็วสูง) จำนวนผู้เดินทางเข้าเมืองพัทยาในปี 2561 จำนวน 14.9 ล้านคน คาดการณ์ปี 2566 ประมาณ 16.3 ล้านคน และคาดการณ์ปี 2571 ประมาณ 25.8 ล้านคน สัดส่วนชาวต่างชาติ 62% ชาวไทย 38% โดยมีโมเดลการพัฒนา TOD สถานีฟุทาโกะทามางาวะ ย่านชานเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

และ สถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานี มีแนวคิดการพัฒนาที่มีศักยภาพเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีและมีคุณภาพสูงซึ่งใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง และคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดด้วย

โดยในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเกิดการพัฒนาพื้นที่ TOD ทั้ง 2 สถานี จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการดึงดูดการลงทุนและพัฒนากิจการเป้าหมายร่วมกับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ดังกล่าว โดยท้องถิ่นและชุมชนจะเกิดการพัฒนาแหล่งงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น การพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับแนวคิดการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

เช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สาธารณะ และเพิ่มมูลค่าที่ดินในอนาคต ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ เจ้าของที่ดินและผู้อยู่อาศัยในเขตส่งเสริมฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจการพัฒนาที่มีแนวทางหลากหลายยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิทธิการพัฒนาและเข้าร่วมดำเนินการ โดยได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวที่คุ้มค่าและเหมาะสม ส่วนผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนจาก EEC

โดยจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 ในเดือนก.ค. 66 เพื่อสรุปโครงการนำร่อง และประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอ ของกลุ่มเป้าหมาย ในเดือนส.ค. 66 และสัมมนาปิดโครงการในเดือนก.ย. 66 ซึ่งเป็นการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการ วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และประเมินผลกระทบทางสังคมเบื้องต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ