ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียต่างเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากราคาเชื้อเพลิง อาหาร และที่อยู่อาศัยที่ทะยานขึ้น
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า ข้อมูลล่าสุดจากประเทศออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์สะท้อนให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์เพราะราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่นำมาใช้เป็นอาหาร ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชีย
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ไตรมาสแรกของออสเตรเลียที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 4 และสูงขึ้น 4.2% จากปีที่แล้ว ขณะที่ตลาดคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ 1.1% และ 4.0%
อัตราการขยายตัวของ CPI เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่เหนือระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารกลางออสเตรเลียตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย. ส่งผลให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่ออสเตรเลียจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยธนาคารได้ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และล่าสุดได้ขึ้นดอกเบี้ยเป็น 7.25% เมื่อเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินสดในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 6 พ.ค. เพราะต้องการใช้เวลาในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งที่ผ่านมามากกว่านี้ แต่ตลาดมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน
ไมเคิล ไบลท์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคอมมอนเวลท์ แบงค์ ออฟ ออสเตรเลีย กล่าวว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจจะต้องการใช้เวลาเพื่อประเมินผลจากการขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มมากขึ้นว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็มีปัญหาเช่นกันเดียวกัน แดเนียล ชาน นักยุทธศาสตร์ของดีบีเอส แบงค์ กล่าวว่า เงินเฟ้อจีนจะยังคงอยู่ในระดับสูง และรัฐบาลจีนคงจะใช้วิธีการ 3 แนวทาง คือ การขึ้นสำรองสภาพคล่องธนาคาร การขึ้นดอกเบี้ย และการขึ้นค่าเงินหยวน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อจีนเพิ่มขึ้น 8% ในไตรมาสแรก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากราคาอาหารดีดตัวขึ้นถึง 21% ส่วนการขยายตัวในไตรมาสแรกชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 10.6% จากระดับ 11.9% ตลอดทั้งปี 2550
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--