นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญในปี 2566 หลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเพาะปลูก มีน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกมีเพียงพอ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา อีกทั้งสินค้าเกษตรบางชนิดมีโครงการส่งเสริมการปลูกคุณภาพโดยการผลิตนอกฤดูเพิ่มขึ้น
โดยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งมีนายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้คาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ลำไย ทุเรียน กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ เป็นต้น
- ข้าวนาปรัง คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 11.746 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23.03% ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 7.614 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 23.39% โดยผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 648 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 0.31% เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม
- ปาล์มน้ำมัน คาดว่ามีเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 6.252 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.66% ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 19.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.36% โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 3,182 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2.68% โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นเพราะราคาดี เกษตรกรมีการปลูกทดแทนยางพารา บางส่วนขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนพื้นที่นา พื้นที่รกร้าง พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนช่วงปลายปี 2564 ถึงตลอดปี 2565 มีเพียงพอ ฝนทิ้งช่วงน้อยกว่า ช่วงปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้จำนวนทะลายในช่วงปี 2566 เพิ่มขึ้น
- ยางพารา คาดว่ามีเนื้อที่ให้กรีดได้รวมทั้งประเทศ 21.986 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.26% ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.951 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.59% โดยผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ทั้งประเทศ 225 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2.27% ซึ่งเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2560 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ต้นยางสมบูรณ์ดี จำนวนวันกรีดเพิ่มขึ้น
- ทุเรียน คาดว่ามีเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 1.055 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11.95% ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1.577 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.20% โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 1,495 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 11.82% โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ที่ปลูกเมื่อปี 2561 เกษตรกรปลูกแทนยางพารา พืชไร่ และไม้ผลอื่นๆ เช่น มะม่วง ลองกอง ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตทางภาคใต้ สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ในช่วงปลายปี 2565 มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ต้นทุเรียนได้รับน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นสมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอก ประกอบกับมีการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงให้การบำรุงดูแลดีขึ้น
- กุ้งขาวแวนนาไม คาดว่ามีเนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 270,547 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.55% ปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ 375,809 ตัน เพิ่มขึ้น 1.19% ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปีรวมทั้งประเทศ 1,389 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 0.65% เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ ตามการประกันราคาขั้นต่ำของคณะกรรมการบริหารห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกมีความต้องการซื้อเพิ่ม เกษตรกรที่เคยปล่อยบ่อทิ้งว่างไว้ในปีที่ผ่านมา เพราะการชะลอตัวของความต้องการในช่วงการระบาดของโควิด- 19 ได้เริ่มกลับมาเลี้ยงใหม่ในปีนี้
ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงให้มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานิล ในบริเวณพื้นที่ภาคกลาง
- กุ้งกุลาดำ คาดว่ามีเนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 9,601 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.55% ปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ 18,826 ตัน เพิ่มขึ้น 3.53% ส่วนผลผลิตต่อไร่รวมทั้งประเทศ 1,961 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 0.98% เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเดิมที่มีความชำนาญในการเลี้ยง และบางส่วนเป็นเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกุ้งในฟาร์มระหว่างกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นการใช้บ่อเดิมที่มีอยู่ โดยปรับการเลี้ยงตามคำสั่งซื้อของลูกค้า
ส่วนแนวโน้มของราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีเที่ยวบินตรงมายังภูเก็ตเพิ่มขึ้น ปัญหาการขนส่งกุ้งกุลาดำมีชีวิตจากแหล่งผลิตภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้ง
ทั้งนี้ สศก.ยังคงติดตามสถานการณ์การผลิต ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชและสัตว์ ในช่วงการเจริญเติบโต จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำมาปรับค่าพยากรณ์ต่อไป