สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/66 ขยายตัว 2.7% จากตลาดคาดขยายตัว 2.3-2.4% และปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 4/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตในภาคเกษตร ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และรายรับจากบริการต่างประเทศยังคงขยายตัวต่อเนี่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1/66 หากพิจารณาในด้านของการใช้จ่าย จะพบว่า การส่งออกบริการ และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมฯ สาขาการก่อสร้าง และสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ ปรับตัวลดลง
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05% ต่ำกว่า 1.15% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 1.53% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% เทียบกับ 5.8% และ 3.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์ (13.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505 ล้านบาท คิดเป็น 61.2% ของ GDP