สภาพัฒน์ คงคาด GDP ปี 66 โต 2.7-3.7% ท่องเที่ยวยังเป็นแรงหนุน แม้ส่งออกหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 15, 2023 09:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ คงคาด GDP ปี 66 โต 2.7-3.7% ท่องเที่ยวยังเป็นแรงหนุน แม้ส่งออกหดตัว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7 - 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP

สภาพัฒน์มองว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ 3.การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 4.เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้

1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ รวมทั้งประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

2. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 63-65 ให้เกิดการลงทุนจริง แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

3. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องโดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และสร้างความพร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น

4. การดูแลผลผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567 ควบคู่ไปกับการการเตรียมพร้อมรองรับและแก้ไขปัญหาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

5. การรักษาบรรยาการทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ