ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ภาพรวมภาคการท่องเที่ยวในปี 66 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวแตะ 30 ล้านคน จากการประกาศเปิดประเทศในทันทีของจีนตั้งแต่ต้นปี 66 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีน กลับมาท่องเที่ยวในไทยเร็วขึ้น อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาติอื่น ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว โดยนักท่องเที่ยวหลัก ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียน และยุโรป
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับสูง จากต้นทุนด้านเชื้อเพลิง
ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย มีแนวโน้มท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง และกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทย ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากที่นักท่องเที่ยวไทยเลือกออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งในช่วงที่เหลือของปี อาจจะยังไม่มีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมหรือมีความล่าช้า
ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น แต่ยังต้องพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักอยู่ เนื่องจากอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุหลักมาจากระยะเวลาเข้าพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติยาวนานขึ้น รวมถึงอุปทานห้องพักยังไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยธุรกิจโรงแรมบางส่วน ยังไม่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูงในการดำเนินกิจการ และนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักเป็นกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนที่ยังเดินทางเข้าไทยไม่มากนักในระยะแรก
ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยเร่งตัวสูงขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยกลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจะเลือกพักโรงแรม 4-5 ดาวเป็นหลัก อีกทั้งธุรกิจโรงแรมมีการนำเสนอโปรโมชันด้านราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่มากเท่ากับช่วงการเปิดประเทศในระยะแรก
อย่างไรก็ดี แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แต่ธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางการเติบโตแบบชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการเดินทางท่องเที่ยว
2. ต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งตัว
3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการให้บริการและคุณภาพการให้บริการ
4. การแข่งขันที่สูงขึ้น จากโรงแรมที่เคยปิดให้บริการ, เปิดให้บริการบางส่วนในช่วงวิกฤตโควิด-19 และโรงแรมที่มีแผนเปิดในปีนี้หลังจากเลื่อนเปิดให้บริการเพราะวิกฤตโควิด-19
5. ประเด็นด้าน ESG ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจโรงแรม
ในทิศทางเดียวกัน ธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยในปี 66 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดราว 2.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 85% เมื่อเทียบกับปี 62 โดยรายได้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางบินระหว่างประเทศ มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าเท่าตัว จาก Pent-up demand ของการเดินทางระหว่างประเทศ หลังจากปัญหาโควิด-19 คลี่คลายลง ดังนี้
1. นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคน โดยเฉพาะจากฝั่งเอเชีย เช่น จีน อาเซียน เกาหลีใต้ และอินเดีย
2. นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
3. อัตราค่าโดยสารที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต่อเนื่องจากไตรมาส 4/65 ที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และเที่ยวบินมีจำนวนจำกัด แต่มีแนวโน้มปรับลดลงจากการเพิ่มเที่ยวบินที่มากขึ้นในปี 66
ส่วนรายได้ขนส่งผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จนมีมูลค่าใกล้เคียงกับก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว โดยนักท่องเที่ยวภายในประเทศ (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 224 ล้านคนเป็น 287 ล้านคน โดยเฉพาะจากการเข้ามาของชาวต่างชาติ ประกอบกับอัตราค่าโดยสารยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ภายหลังจากสายการบินเก็บค่า Fuel surcharge ในเส้นทางบินในประเทศ
ในส่วนของรายได้ขนส่งสินค้ามีแนวโน้มลดลง จากอัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก จากที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับสายการบินกลับไปเน้นให้บริการขนส่งผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สายการบินยังให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มความ Resilient ให้แก่ธุรกิจ
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของธุรกิจการบิน ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแบบชะลอตัว กับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงหลายประการ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อ และต่อเนื่องไปยังความต้องการเดินทางท่องเที่ยว
2. ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันอากาศยานเฉลี่ยที่ยังสูงอยู่ราว 114 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
3. การแข่งขันในธุรกิจสายการบิน จากการเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางบินใหม่มากขึ้น ของทั้งสายการบินสัญชาติไทย และสายการบินต่างชาติ การขยายฝูงบินของสายการบิน รวมถึงแผนการเปิดสายการบินใหม่ๆ หลายราย ซึ่งจะกดดันอัตราค่าโดยสารและส่งผลไปยังอัตรากำไรของธุรกิจสายการบิน
4. สถานะทางการเงินของสายการบินที่ยังค่อนข้างเปราะบาง จากปัญหาช่วงโควิด-19 แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ที่ฟื้นตัว
5. การปฏิบัติตาม Fly net zero 2050 ซึ่งเป็นประเด็นที่สายการบินต้องเร่งให้ความสำคัญ และเริ่มเตรียมความพร้อมและวางแผนปรับตัวเพื่อบรรเทาต้นทุนคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 67 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวม มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 จากความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเร่งตัวขึ้น
อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว มีแนวโน้มลดลงจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่ลดลงต่อเนื่องและ Capacity ของสายการบินที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อย จากความต้องการท่องเที่ยวในประเทศที่มีโอกาสชะลอตัวหลังสถานการณ์ในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่ธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 โดยอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าราคาห้องพักเฉลี่ย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจโรงแรมเน้นการนำเสนอโปรโมชันแพ็กเกจห้องพักระยะยาวมากขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าพักให้สอดรับกับต้นทุนการดำเนินการ อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จากโรงแรมใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และมีแผนเปิดตัวในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนธุรกิจสายการบินโดยภาพรวม ทั้งในเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ จะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 แล้วในช่วงปลายปี 67 โดยเส้นทางในประเทศจะฟื้นตัวก่อนในปี 66-67 ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวตามมา
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของรายได้สายการบินสัญชาติไทยยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การปรับลดและเพิ่ม Capacity ของสายการบิน, แผนการฟื้นฟูกิจการของหลายสายการบิน, การแข่งขันของสายการบินจากต่างประเทศ, การขยายส่วนแบ่งตลาดเส้นทางระหว่างประเทศของสายการบิน Low-cost ที่มีอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่า Full service, และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น