สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไตรมาส 1/66 อัตราการว่างงานดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 1.05% ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่วนหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/65 อยู่ที่ 86.9% ต่อจีดีพี ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง พร้อมแนะรัฐบาลใหม่พิจารณาปรับค่าแรงให้รอบคอบ ส่วนนโยบายรัฐสวัสดิการ ควรทำแบบพุ่งเป้า
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น และได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น
สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย
ขณะที่สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวถึง 7.2% และ 1.6% ตามลำดับ ในส่วนของชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และชั่วโมงการทำงานเอกชนอยู่ที่ 41.4 และ 44.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ทำงานล่วงเวลาที่มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 11.3% อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.05% โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1. การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2-3 หมื่นตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ
"อุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอนาคตคืออุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการปรับหลักสูตรให้สามารถรองรับความต้องการในภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับดาต้า ซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ก็จะทำให้มีความต้องการตำแหน่งด้านดิจิทัลมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องมาวางแผนทำโรดแมปให้ชัดเจนระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการในอนาคต" นายดนุชา กล่าว
2. รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร
3. พฤติกรรมการเลือกงานโดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่
ในส่วนของการเพิ่มค่าแรง ตามนโยบายการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งเชิงบวกและลบ โดยเชิงบวกคือ แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ คือ ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้า ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาให้ดีจากสถานการณ์ เนื่องจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย
"ที่ผ่านมา ไทยใช้พัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่แล้วมีรายงานการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ วิธีการเป็นอย่างไร แต่ละประเทศทำอย่างไร ดังนั้น ต้องดูสถานการณ์ของประเทศให้ดี ขณะเดียวกันต้องดูภาระของภาคเอกชน และเรื่องเกี่ยวพันกับการตัดสินใจลงทุนต่างๆ ด้วย" นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ที่สำคัญถ้ามีการปรับเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี จะส่งผลทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับผลกระทบ รัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ถ้าแรงงานเงินไม่พอใช้ต้องกลับมาดูทักษะแรงงาน และค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ซึ่งมองว่าค่าแรงไม่ควรเท่ากันหมดทั้งประเทศ เพราะค่าครองชีพต่างกัน จะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องไปพูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคี
*หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/65 ชะลอตัวอยู่ที่ 86.9% ต่อจีดีพี
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมทรงตัว แต่ต้องติดตามสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่มีสินเชื่อเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และบัญชีหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น
ในไตรมาส 4/65 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.9% ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 เป็นเรื่องที่ยังมีความกังวล และเป็นระเบิดเวลา แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาแล้ว ยากที่จะทำให้ลดลงในเวลาอันสั้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไทยประสบภาวะโควิด-19 ด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งค่อนข้างสูง
ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ถึงความเข้าใจในการซื้อสินค้าบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อจัดการหนี้เดิมและไม่สร้างหนี้ใหม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการตลาดของภาคธุรกิจ เช่น การผ่อน 0% ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมาด้วย
"ในไตรมาส 4/65 หนี้เสียยังทรงตัว แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระดับบุคคลและระดับธุรกิจเป็นไปได้ดี ซึ่งต้องดำเนินต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ส่วนโอกาสในการระเบิด หากดูเรื่องการจ้างงานที่ไปได้ และเศรษฐกิจที่เติบโตได้ ก็คงไม่ระเบิด แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโต เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องการใช้จ่าย ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องจำเป็น และต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับการสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสองฝ่าย" นายดนุชา กล่าว
ในส่วนของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มีวัตุประสงค์เพื่อแก้ปัญหานโยบายทางการเงินเรื่องการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ดูอย่างรอบคอบในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ขึ้นลักษณะเดียวกับที่ต่างประเทศทำ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ที่มีหนี้สิน ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ชัดเจน และจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงถัดไป มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งปี 66 น่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ไม่เกิน 3% เนื่องจากขณะนี้ราคาพลังงานต่างๆ ปรับลดลงมาก โดยเฉพาะแก๊ส LNG ที่ลงมาอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะทำให้ค่าไฟฟ้าในรอบหน้ามีแนวโน้มปรับลดลง ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยยังต้องทำต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
ส่วนเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการ เนื่องจากไทยมีข้อจำกัดเรื่องการหารายได้ ในต่างประเทศการจัดสวัสดิการพื้นฐานมาจากรายได้ภาษีที่ค่อนข้างสูงมาก แต่ของไทยฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้จะมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีถึง 10-11 ล้านคน แต่ผู้ที่เสียภาษีจริงมีไม่เกิน 4 ล้านคนเท่านั้น
ดังนั้น รัฐต้องทำนโยบายพุ่งเป้า ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใด แบบใด โดยมองว่าการช่วยแบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาว ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำส่วนหนึ่งมาใช้ในสวัสดิการ และอีกส่วนเพื่อลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วย
สำหรับคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาดูแลทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลต่อไปนั้น นายดนุชา เชื่อว่าคนที่จะเข้ามาต้องมีความสามารถอยู่แล้ว ประชาชนถึงได้เลือกเข้ามา ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเดินหน้าต่อในนโยบายหลายอย่าง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้