กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.43 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.69-34.52 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน หลังข้อมูลเศรษฐกิจจีนบ่งชี้ว่าแรงส่งของการฟื้นตัวแผ่วลง
โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ สดใสเกินคาด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลายรายให้ความเห็นว่าอาจจะเร็วเกินไปสำหรับการยุติวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ร่วมตลาดลดคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่าพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน จะสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ทันเวลา ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 10,679 ล้านบาท และ 17,741 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองภาพรวมในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามการเปิดเผยรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.และดัชนีราคาค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย.ของสหรัฐฯ รวมถึงความคืบหน้าการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยหากตลาดดอกเบี้ยบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. เงินดอลลาร์จะเข้าสู่ช่วงพักฐาน
ขณะที่ประธานเฟดระบุว่า ภาวะตึงตัวในภาคธนาคารอาจทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไม่จำเป็นต้องสูงมากนัก ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเฟดจะหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มของภาคเศรษฐกิจจริงจากการคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าสะท้อนว่า มีโอกาส 90% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.
สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์ รายงานจีดีพีไตรมาสแรกเติบโต 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แข็งแกร่งเกินคาด แต่ส่งผลจำกัดต่อค่าเงินบาท โดยนอกเหนือจากประเด็นความเคลื่อนไหวในตลาดโลก ซึ่งเราให้น้ำหนักหลัก กระแสเงินทุนไหลออกจากหุ้นและพันธบัตรไทยอาจดำเนินต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่