กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ "สมาร์ทโชห่วย พลัส" จับมือ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS) ส่งตู้เติมเงิน "กะปุก" ให้ร้านโชห่วยทั่วไทย ภายใต้แนวคิด "ขยายฐานลูกค้าด้วยเทคโนโลยีใกล้บ้าน" นำร่อง 200 ตู้ หวังสร้างโอกาสทางการค้า/เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการชุมชน คาดสร้างรายได้ให้ร้านโชห่วยปีละ 30,000 - 50,000 บาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส" เป็นโครงการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ทั่วประเทศ ให้เป็น "สมาร์ทโชห่วย" ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีการจัดรูปแบบร้านค้าที่สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้า รวมถึงมีความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารธุรกิจ: รู้จักลูกค้า รู้จักสินค้า รู้จักใช้เงิน และรู้จักกำไร โดยโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับการสนับสนุนตู้เติมเงิน "กะปุก" หรือ Kapook จำนวน 200 ตู้ จาก บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เพื่อดำเนินการมอบให้แก่ร้านค้าทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิด "ขยายฐานลูกค้าด้วยเทคโนโลยีใกล้บ้าน" ซึ่งตู้กะปุก สามารถให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ วอลเลท (Wallet) บัตรเงินสด เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโชห่วย
โดยการนำตู้กะปุก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปให้บริการเสริมแก่คนในชุมชน เป็นการให้บริการเพิ่มเติมจากการขายสินค้าอุปโภค-บริโภคตามปกติ ช่วยขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ หรือชำระค่าบริการประเภทต่างๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยสามารถทำธุรกรรมได้ที่ร้านสมาร์ทโชห่วยใกล้บ้าน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย
นายทศพล ประเมินเบื้องต้นว่า การให้บริการตู้กะปุก 1 ตู้ จะมีรายได้ปีละประมาณ 30,000 - 50,000 บาท โดยรายรับมาจาก 2 ทาง คือ 1) ค่าธรรมเนียมเติมเงิน เช่น เติมเงิน 20 บาท ค่าธรรมเนียม 2 บาท และ 2) เปอร์เซ็นต์จากยอดเติมเงินที่จะได้รับจากเจ้าของเครือข่ายเติมเงิน (ประมาณ 2.7 - 3%) ขณะเดียวกัน ร้านสมาร์ทโชห่วยที่ติดตั้งตู้กะปุก จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 100 บาท (ค่าบริหารจัดการรายเดือนซิม โทรศัพท์ 50 บาท และค่าไฟตู้กะปุกประมาณ 50 บาท)
"เมื่อหักกลบลบยอดระหว่างรายรับ และรายจ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังคงมีรายรับที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการตู้กะปุก ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมจากการขายสินค้าภายในร้าน นอกจากนี้ AWS ซึ่งเป็นเจ้าของตู้กะปุก จะเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาการใช้งาน โดยหากดำเนินการแจกตู้กะปุกได้ครบ 200 ตู้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 10 ล้านบาท" นายทศพล ระบุ
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ AWS จะร่วมกันส่งมอบตู้กะปุก ในงานสัมมนา ?ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างเครือข่าย สู่การเป็นสมาร์ทโชห่วย? ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ และวันที่ 3, 5, 22 และ 25 มิถุนายน 2566 ณ จังหวัดนครราชสีมา อุตรดิตถ์ อุดรธานี และร้อยเอ็ด ตามลำดับ
ด้านนายวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AWS กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มอบตู้เติมเงิน Kapook Topup รุ่น Plus ราคาตู้ละ 13,500 บาท ให้แก่ร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส ทั่วประเทศ จำนวน 200 ตู้ มูลค่า 2.7 ล้านบาท เพื่อให้ร้านโชห่วยสามารถนำไปสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการเติมเงินมือถือ และค่าธรรมเนียมชำระค่าบริการต่างๆ อัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง
"บริษัทมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านบริการเสริมกับโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนพัฒนาร้านโชห่วยทั่วประเทศไทย ให้กลายเป็นร้านค้าที่ทันสมัย ด้วยบริการเสริมตู้เติมเงิน Kapook Topup เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดค้าปลีก ที่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" นายวิโรจน์ ระบุ