เงินบาทแนวโน้มผันผวน ลุ้นหัว-ก้อยการเมืองไทย ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 26, 2023 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินบาทแนวโน้มผันผวน ลุ้นหัว-ก้อยการเมืองไทย ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา เงินบาทแกว่งตัวในกรอบกว้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยหลัก 3 เรื่อง ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยในต่างประเทศ และปัจจัยเฉพาะของไทยเอง โดย 3 เรื่องหลักๆ ที่มีผลกระทบต่อสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และค่าเงินบาท ประกอบด้วย 1. การพลิกกลับไป-กลับมา ของมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ 2. ทิศทางค่าเงินหยวน และมุมมองที่มีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และ 3. สถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.66

ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นมาก และสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ตามหลังเพียงแค่เงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียและสกุลเงินหลักมีความผันผวน จะเป็นตัวแปรที่มาจากเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของเงินบาทในปี 2566 ที่อยู่ในกรอบสูง อาจสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ด้วยปัจจัยเฉพาะของไทย โดยเฉพาะการแกว่งตัวของเงินบาทตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องติดตามหลายด้าน แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทว่า เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง โดยในระยะสั้น อาจปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 33.80 - 35.40 บาท/ดอลลาร์ฯ (คาดการณ์โดยธนาคารกสิกรไทย) เนื่องจากมีหลายตัวแปรที่สามารถพลิกได้สองด้าน ซึ่งทำให้ยังคงมีความไม่แน่นอน และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะ 1. กระบวนการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปในเชิงลบ ก็จะเปิดความเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของสหรัฐฯ และอาจกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง

2. ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่เฟดอาจยังคงส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ต้องใช้เวลานานในการปรับตัวกลับเข้าสู่เป้าหมาย (ซึ่งจะมีผลทำให้โอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง)

3. สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งหากยังมีความไม่แน่นอน ก็จะเป็นปัจจัยที่จำกัดกรอบการฟื้นตัวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ค่าเงินบาทอาจมีปัจจัยเพิ่มเติม จากสถานการณ์และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของค่าเงินบาท

ดังนั้น แม้สถานการณ์เงินบาทที่ผันผวนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการในภาคธุรกิจควรที่จะเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับกระแสรายรับ-รายจ่าย ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ มาปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ สัญญา Forward ซึ่งจะมีการกำหนดสกุลเงิน จำนวนเงิน ระดับอัตราแลกเปลี่ยน และกำหนดวันส่งมอบที่แน่นอน และ/หรือบัญชีเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ FCD ซึ่งจะเหมาะกับธุรกิจที่มีทั้งขารับและจ่ายในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ