นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย การเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการอ่อนค่าของเงินบาท ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคหลายตัว และดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
การเทขายทำกำไร ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความวิตกกังวลว่าอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ หากไม่สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้ภายใน 3 มิ.ย.นี้ แต่ล่าสุด มีความคืบหน้าเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่น่าจะตกลงกันได้
"ปัจจัยการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ที่กดดันตลาดการเงินโลกและไทย จะคลี่คลายลงทันที เมื่อรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติให้ขยายเพดานหนี้ได้ ล่าสุด มีความคืบหน้าเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐน่าจะตกลงกันได้แล้ว ทำให้ตลาดการเงินโลกคลายกังวลผิดนัดชำระหนี้ ตลาดการเงินโลก และไทยน่าจะมีการฟื้นตัว" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่สหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ ทำให้ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้ ลดความผันผวนและความตื่นตระหนักเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่ขยายตัวมากพอจนสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ความจำเป็นในการก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในรายการที่ไม่สามารถปรับลดได้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป และความเสี่ยงของวิกฤตการณ์หนี้สินภาครัฐยังมีอยู่ จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถดำเนินนโยบายงบประมาณแบบสมดุลได้ในอนาคต
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงความไม่แน่นอนและความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการลงทุน แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญมากนัก เนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายขวาจัดสุดโต่งด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกมีความเป็นไปได้น้อย
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นพรรคการเมืองลำดับ 1 (พรรคก้าวไกล) หรือพรรคการเมืองลำดับ 2 (พรรคเพื่อไทย) ก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลยังอยู่ภายใต้การกำกับของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ย่อมเป็นผลดีต่อระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
"ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมีผลกระทบทางลบต่อการลงทุน ก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจใช้เครื่องมือทางกฎหมายอันไม่ชอบธรรม หรือใช้ตุลาการภิวัฒน์ ใช้ปาฏิหาริย์ทางกฎหมายอันขัดหลักนิติธรรม ตัดสิทธิทางการเมือง หรือยุบพรรคการเมือง หากเป็นเช่นนั้น จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง และจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย และเกิดความไม่แน่นอนในทางการเมือง กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเสร็จสิ้นภายในเดือนก.ค.66 จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างยิ่ง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมากจากระดับ 2.7% ในไตรมาสแรก ขณะนี้ อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4-4.5% หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว
"คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดปี 2566 จะอยู่ที่ 3.9-4.3% จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว ภาคการลงทุน และ การบริโภคเอกชนจากการปรับขึ้นค่าแรง รวมทั้งอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าที่คาด และทยอยปรับตัวในทิศทางดีขึ้นส่งผลบวกต่อภาคส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง" นายอนุสรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อและราคาพลังงงานยังลดลงอีกด้วย การปรับฐานลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จากความวิตกกังวลว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะมีผลกำไรลดลงจากนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นความวิตกกังวลเกินเหตุ เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าแรง จะทำให้กำลังซื้อในเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ยอดขายสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับกำไรของกิจการต่างๆ ไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด และกำไรจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากในธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้น ส่วนกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น รัฐบาลใหม่ต้องออกมาตรการสนับสนุนให้กิจการเหล่านี้ปรับตัวให้ได้ ปรับโครงสร้างกิจการให้มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
นายอนุสรณ์ ยังแนะว่า รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าเปิดการเจรจาทางการค้า การลงทุน และการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากไทยสามารถขยายตลาดใหม่ได้เพิ่มเติม คาดว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้น เงินบาทจะพลิกกลับมาเป็นแนวโน้มแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยค่าเงินบาทอาจกลับมาเคลื่อนไหวในช่วง 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีหลัง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติรอบใหม่
ภาวะการเงินไทยอาจมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ การสิ้นสุดมาตรการต่ออายุการลดอัตรานำส่งเงินสบทบเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF fee) ขณะนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเล็กน้อย คือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 3.1-3.2% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีอาจแตะระดับ 2.7% ได้ หากไม่ปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมทำให้ครอบครัวรายได้น้อยมีรายจ่ายและค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ อันนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนระลอกใหม่ ประกอบกับดอกเบี้ยขาขึ้น จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความยุ่งยากขึ้นในการแก้ไขปัญหา
"ไตรมาส 2 ภาคส่งออกของไทยน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ จึงไม่เกิดขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ จึงเป็นปรากฎการณ์ระยะสั้น" นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปรับเพิ่มเงินเดือนแรงงานแรกเข้าระดับปริญญาตรี จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อาจมีการย้ายฐานการผลิตบ้างในส่วนของสินค้าใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนสินค้าใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นอาจเติบโตเพิ่มหากมีมาตรการส่งเสริมที่เหมาะสม ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ในไทย การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยี จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่ได้ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในหลายอุตสาหกรรมยังประสบภาวะการขาดแคลนแรงงาน และต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือ ภาคการผลิตหันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ชะลออัตราการเติบโตของการจ้างงานแรงงานต่างด้าวจากเพื่อนบ้าน หรือ อุปสงค์แรงงานต่างด้าวลดลงนั่นเอง
ส่วนอุปทานแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานต้องการเข้ามาทำงานเมืองไทยมากขึ้น จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจะสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน หลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท
"สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดภาระหนี้ของภาคเอกชน ครัวเรือน และหนี้สาธารณะได้อย่างไร ด้วยการขยายฐานรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ความมั่งคั่ง" นายอนุสรณ์ ระบุ