นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน เม.ย.66 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.3% ส่งผลให้เดือน เม.ย.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 1,471 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.66) มีมูลค่า 92,003 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 96,519 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.2% ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาหดตัว ตามการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบวกที่สำคัญจากการส่งออกไปตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อแยกการส่งออกในเดือน เม.ย.66 เป็นรายกลุ่ม จะพบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 3,105 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 23.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และข้าว
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,745 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12% ซึ่งเป็นการกลับมาลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม, ผักกระป๋องและผักแปรรูป และเครื่องดื่ม
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 15,949 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.2% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทั้งนี้ สำหรับตลาดส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก เป็นดังนี้ 1. ตลาดรัสเซีย 211.3% 2.ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ 77.9% 3.อิรัก 53.3% 4.สหราชอาณาจักร 49% 5.โปรตุเกส 34% 6.จีน 23% 7. สวีเดน 21% 8.ออสเตรเลีย 10.7% 9.ลาว 9.9% และ 10.2.8%
สำหรับปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ 1. ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภค 2.นโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดเชิงรุกของประเทศคู่ค้า โดยยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ ภาคธุรกิจทั่วโลกลดการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบสำหรับใช้ในภาคการผลิต
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 1-2% โดยยอมรับว่าการส่งออกมีหลายปัจจัยจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็จะพยายามทำให้เต็มที่อย่างที่สุด ส่วนข้อเสนอต่างๆ ที่ภาคเอกชนเสนอมานั้น จะได้มีการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาและอุปสรรคร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต หรือปัญหาค่าแรง
นอกจากนี้ จากที่ได้หารือกับภาคเอกชน คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยลง ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ประเมินร่วมกับภาคเอกชนแล้วว่า การส่งออกอาจจะติดลบได้ถึง 2 digit แต่ล่าสุดตัวเลขจริงที่ออกมาติดลบเพียง 1 digit ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ และคาดว่าจะเห็นมูลค่าส่งออก กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
"สิ่งที่เราคาดไว้ คือตั้งแต่ไตรมาสแรก มาจนถึงเม.ย. น่าจะติดลบ 2 หลัก แต่ตัวเลขจริงก็ออกมา 1 หลัก ได้คุยกับเอกชนก็พอใจในระดับหนึ่ง ที่ไม่ลงไปถึง 2 หลัก เพราะปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องกำลังซื้อในต่างประเทศที่ลดลง" นายกีรติ กล่าว
สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงพาณิชย์ จะมีการหารือกับผู้ส่งออกเป็นราย sector อีกครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหาอุปสรรค และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ เพื่อทำให้การส่งออกมีความคล่องตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกทั้ง 350 กิจกรรม ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นได้อีก 20,000 ล้านบาท