ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงอาจเผชิญกับภาวะถดถอยในบางไตรมาสของปีนี้ จะยังกดดันการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบอื่น ๆ อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาตร์ที่ยังคงอยู่ ความผันผวนของค่าเงินในระยะข้างหน้า สภาพอากาศที่อาจไม่อำนวยต่อผลผลิตสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ดี ยังมีสัญญาณเชิงบวกของการส่งออกไปยังตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัวได้ในเดือนเมษายน ประกอบกับปัจจัยฐานที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ที่อาจเห็นการกลับมาขยายตัวของการส่งออกได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ยังคงติดลบที่ -1.2%
นอกจากนี้ ปัจจัยที่เข้ามาหนุนภาคการส่งออกไทย ท่ามกลางบรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันภาคการส่งออกของไทยอยู่ คือ ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ซึ่งขณะนี้ไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 1/2566 สัดส่วนการใช้สิทธิ FTA อยู่ที่ 73.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.7%
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่าทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทย จะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย ที่มีแนวโน้มยังจะถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในอนาคต ที่อาจจะเข้ามาสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ในขณะนี้
โดยควรเร่งเจรจาจัดทำความตกลงเสรีทางการค้าที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จ เช่น ตุรกี แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิรตส์ เป็นต้น และศึกษาเจรจา จัดทำความตกลงกับตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม อาทิ สหภาพยุโรป (สัดส่วนการส่งออก 8%) และกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอาหรับ หรือ GCC (สัดส่วนการส่งออก 3%)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2566 หดตัว 7.6% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า 2566 บรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้กดดันการส่งออกไทยให้หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ แม้มีปัจจัยฐานที่น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าแต่ผลของอุปสงค์ที่ลดลงกลับกดดันการส่งออกไทยให้เผชิญกับการหดตัวมากขึ้น
โดยปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการส่งออกในเดือนนี้ มาจากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยหดตัวเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริการ หดตัว 9.6%, ยุโรป หดตัว 8.2% และญี่ปุ่น หดตัว 8.1%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยบวกจากการส่งออกไปยังตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 10 เดือน ที่ 23% (YoY) โดยฉพาะการขยายตัวในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สดและแช่แข็ง ไก่ ข้าว เป็นต้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากระบบขนส่งที่มีศักยภาพมากขึ้น ผ่านการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย-จีน ที่สามารถเอื้ออำนวยและลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าดังกล่าว ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่จะปัจจัยเชิงบวกให้การส่งออกไทยไปตลาดจีนปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง