แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเม.ย.ฟื้นตัว รับท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน แต่ส่งออกหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 31, 2023 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเม.ย.ฟื้นตัว รับท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน แต่ส่งออกหดตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากกิจกรรมภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งอกสินค้ายังไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง ที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จากผลของฐานสูงปีก่อน

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเม.ย.ฟื้นตัว รับท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน แต่ส่งออกหดตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในรายละเอียดว่า ธปท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน ปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายรถยนต์ หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้น จากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออก (1) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ หลังหมดรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ (2) น้ำตาลไปอินโดนีเซีย และ (3) เครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด (1) ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า (2) อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิง ลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน อีกทั้งราคาในหมวดอาหารสดลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่า เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ