กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน พ.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.53% โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งฐานในเดือน พ.ค.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.66) เพิ่มขึ้น 2.96%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนพ.ค.66 เพิ่มขึ้น 1.55% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.98%
"สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. คาดว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากเดือนพ.ค. เนื่องจากฐานค่อนข้างนิ่ง ตัวที่จะเหวี่ยง เช่น อาหารสด และพลังงาน ก็เริ่มเหวี่ยงในกรอบแคบแล้ว" นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.นี้ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งสาเหตุสำคัญนอกจากเป็นเพราะการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคา ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพ.ค.65 อยู่ระดับสูงแล้ว ยังเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ชะลอตัวค่อนข้างมาก
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. แบ่งเป็น ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลง มาจาก 1.การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน 2.ฐานราคาในเดือนมิ.ย.65 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างสูง 3.มาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้า-บริการของภาครัฐ
ขณะที่ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดไว้ มาจาก 1.ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่คาดว่าจะน้อยกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร 2. อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และ 3.ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
"เดือนถัดๆ ไป เงินเฟ้อก็มีโอกาสที่จะทรงๆ ตัวอยู่ในระดับนี้ ถ้าราคาน้ำมันทรงตัว หรือต่ำกว่านี้ เงินเฟ้อก็อาจจะต่ำกว่า 0.5% ได้" รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าว
นายวิชานัน ระบุว่า จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ จึงคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยแต่ละไตรมาสจากนี้ไป คือ ไตรมาส 3 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะอยู่ในระดับ 1% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์ ก็จะมีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 66 ใหม่อีกครั้งในการแถลงเดือนหน้า จากปัจจุบันกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 66 ไว้ที่ 1.7-2.7% หรือค่ากลางที่ 2.2%
"คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะอยู่ที่ประมาณ 1% นิดๆ ส่วนไตรมาส 3 ก็น่าจะต่ำกว่าไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ก็จะต่ำว่าไตรมาส 3 ดังนั้น ทั้งปี ก็คงต้องปรับเป้ากันใหม่ เพราะเรื่องราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เล็กน้อย ขอรอดูความชัดเจนอีก 20-30 วัน ว่าจะต้องเน้นในเรื่องของ Supply หรือ recession มากกว่ากัน" นายวิชานัน ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้เงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลดลง แต่ก็ยังไม่ถึงกับติดลบ เพราะความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะติดลบนั้น ต้องมาจากการที่รัฐบาลใช้ยาแรงมากในมาตราการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ ไม่ว่าจะลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน จากผลของราคาน้ำมันโลกที่ลดลงอย่างแรง ซึ่งหากเกิดภาวะนั้น ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบได้ แต่ขณะที่ยังมองไม่เห็นโอกาสนั้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะกลับขึ้นไปอยู่ที่ 3-4% เหมือนปีที่ผ่านมา
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วันนั้น นายวิชานัน ระบุว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นเป็น 450 บาท/วัน ในครั้งเดียว แต่น่าจะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดมากกว่า ทั้งนี้ เรื่องค่าแรง ไม่ได้เป็นปัจจัยตรงที่อยู่ในโครงสร้างเงินเฟ้อ แต่จะแฝงอยู่ในราคาสินค้าและบริการต่างๆ ดังนั้น หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริง ก็คงจะเป็นผลกระทบในทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อในทันทีทันใด
"การปรับขึ้นค่าแรง เราไม่เชื่อว่าจะปรับขึ้นเป็น 450 ในทีเดียว น่าจะค่อยๆ ขึ้นแบบขั้นบันได เพราะมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีอยู่ ถ้าค่าแรงขึ้นจริง ก็น่าจะส่งผลทางอ้อมกับค่าบริการ อาหารตามสั่ง เพราะในโครงสร้างเงินเฟ้อ ไม่ได้มีเรื่องค่าแรงอยู่ตรงๆ แต่มันจะไปแฝงอยู่ในราคาสินค้า บริการต่างๆ" นายวิชานัน ระบุ