ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเฟดลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุม 29-30 เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 25, 2008 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 มาที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมตามวาระปกติรอบที่สามของปีในวันที่ 29-30 เมษายน 2551 
พร้อมทั้งมีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัวที่รุนแรง และเอื้อให้ตลาดการเงินสหรัฐฯสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องที่เลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ ไม่ว่าวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ของเฟดจะสิ้นสุดลงหลังการประชุมวันที่ 29-30 เมษายนหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากภาวะชะลอตัวจนกลับมาขยายตัวในอัตราปกติที่อาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร น่าจะทำให้เฟดมีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกระยะหนึ่ง
จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อให้มีความแน่ใจว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้น และปัญหาของสถาบันการเงินได้รับการแก้ไข เฟดมักจะยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำหลังจากยุติวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงแล้วเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่สำหรับวิกฤตในรอบนี้นั้น การที่เฟดได้เข้าไปช่วยเหลือตลาดการเงินด้วยการถือครองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แม้อาจเป็นแรงจูงใจให้เฟดมีแนวโน้มจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้จนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นที่ชัดเจนของเศรษฐกิจ
แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ได้สร้างความกังวลให้กับเฟดด้วยเช่นกัน ดังนั้น การพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังยุติวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงในรอบนี้ คงจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเฟดในการให้น้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดหวังกันว่าการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วอย่างมากของเฟดในช่วงที่ผ่านมา จนล่าสุดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) มีระดับต่ำกว่าศูนย์ ผนวกกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน ตลอดจนมาตรการทางการคลังของรัฐบาลบุช น่าที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและสถานการณ์ในตลาดการเงินทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ แม้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรก็ตาม
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ร้อยละ 2.00 จริงตามที่คาด ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่อาจกว้างขึ้นจากร้อยละ 1.00 มาเป็นร้อยละ 1.25 แม้ว่าอาจมีผลให้เกิดการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศมายังประเทศไทย และสนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่จนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก และไม่น่าจะเป็นข้อกังวลจนเกินไป หากเศรษฐกิจไทยสามารถจะฟื้นตัวขึ้นได้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนคงจะทำให้ความต้องการเงินตราต่างประเทศเมื่อเทียบกับเงินบาทมีระดับที่สมดุลมากขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) พิจารณา นอกเหนือไปจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นน้ำหนักที่สำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ