กนอ.จับมือรัฐ-เอกชน ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 7, 2023 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนอ.จับมือรัฐ-เอกชน ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมทั้งกำหนดนโยบายในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

"กนอ. เร่งขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม และนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยวางนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงาน การลดต้นทุน และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG ภายใต้การดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ Smart I.E." นายวีริศ กล่าว
กนอ.จับมือรัฐ-เอกชน ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ กนอ.ได้เข้าร่วมประชุมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันที่ 18-21 พ.ค.66 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง UNIDO กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กนอ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนความร่วมมือในอนาคตด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการของเสีย และการพัฒนาระบบการผลิตพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Green hydrogen) สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) จำนวน 620 ตัน

"กนอ. จะร่วมมือกับ UNIDO ในการประเมินศักยภาพ และผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Capacity Building) ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และด้านเทคโนโลยี ภายใต้สถาบัน กนอ." นายวีริศ กล่าว

พร้อมกันนี้ กนอ. ยังร่วมประชุมกับนางอัลเฟรด แอนนา มอร์ หัวหน้าแผนกกิจการภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงานระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงกลางด้านการดำเนินการสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม พลังงาน การเคลื่อนที่ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนานโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม การพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการบริหารจัดการ/การบำบัดซากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน (End of Waste) รวมถึงศึกษาดูงานด้านการพัฒนาระบบการผลิตพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Green hydrogen) การบริหารจัดการของเสีย และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ณ the Faculty of Technical Chemistry มหาวิทยาลัยเวียนนา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ