ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 52.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 64.2 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคัก ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผย จีดีพีไตรมาส 1/66 ขยายตัว 2.7% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า คาดทั้งปีจีดีพี โต 3.2% จากปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน 3.นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลดีให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น 4.ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร และกำลังซื้อในภูมิภาค 5.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง 6.เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1. ผู้บริโภคกังวลปัญหาเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รวมทั้งภาวะค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง 2.ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง 3.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภาคการเงินในสหรัฐ มีผลทางจิตวิทยาเชิงลบ 4.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% 5. การส่งออกไทย เดือนเม.ย. หดตัว 7.6%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ระดับ 100) เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่ไม่มั่นคงเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งความชัดเจนของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะเป็นใคร การประท้วงนอกสภาฯ จะมีขึ้นหรือไม่ จึงทำให้สถานการณ์ในช่วงนี้ เป็นภาพที่การเมืองเข้ามาเป็นตัวกำหนดทิศทางความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
"ในภาพรวม ความเชื่อมั่นยังเป็นขาขึ้น แต่ก็ขึ้นได้ไม่แรงนัก เพราะคนยังห่วงภาพอนาคตว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ทั้งจากความไม่แน่ใจในเสถียรภาพการเมืองที่อาจจะยาวไปถึงสิ้นปี ต้นทุนค่าครองชีพที่ยังสูง ทำให้เกิดความระมัดระวังในการใช้จ่าย จึงทำให้ขณะนี้ การเมืองเข้ามาปกคลุมเศรษฐกิจมากพอสมควร ต้องรอให้ผ่านไปสัก 3-4 เดือน ถึงจะชี้ได้ว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาได้มากน้อยขนาดไหน" นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโตดี จะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง, ต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน เชื่อว่ามุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยขณะนี้ คือ Wait and See
"ในส่วนของนักลงทุนต่างชาตินั้น ไม่ได้มีสัญญาณของการขาดความมั่นใจ ไม่มีสัญญาณที่จะถอนการลงทุน เพียงแต่ตอนนี้ เป็นช่วงของการ Wait and See รอดูว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล นโยบายรัฐบาลจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาล และมีการประกาศนโยบายรัฐบาลต่อสภาฯ แล้ว นักลงทุนจึงจะเริ่มตัดสินใจได้มากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ มองว่า หากมีการตั้งรัฐบาลได้เร็วภายในเดือนส.ค. ก็จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่างๆ รวมทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คาดว่ามีโอกาสที่ GDP จะโตได้ 3.6-4% แต่หากเดือน ก.ย.หรือ ต.ค. ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ GDP ปีนี้ก็อาจจะโตได้ราว 3%
อย่างไรก็ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 3.6% แต่อาจจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ค.66