นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เติบโตและเข้มแข็ง ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment : BOI) ประเมินว่าท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ BCG ทั้งนี้ BOI ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน โดยมียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม ? มีนาคม 2566) มากกว่า 1.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในส่วนของ SMEs ไทย ซึ่งเป็นอีกส่วนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนให้เข้มแข็ง นั้น BOI ได้กำหนดเป็น 7 มาตรการเพื่อสนับสนุน ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับ SMEs โดยให้สิทธิประโยชน์วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 200% ของวงเงินลงทุน สำหรับกิจการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. มาตรการยกระดับ SMEs ไปสู่ Smart & Sustainable Industry เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงิน 50% หรือ 100% ของเงินลงทุน
3. มาตรการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ช่วยพัฒนา SMEs ที่เป็น Local Supplier โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของค่าใช้จ่าย
4. มาตรการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ช่วยพัฒนา "ผู้ประกอบการในชุมชน" โดยเพิ่มวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ในการเข้าไปสนับสนุนโครงการในชุมชนในการพัฒนาระบบเกษตรและน้ำ ผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวชุมชน และเพิ่มเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ รายละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200 ของเงินสนับสนุน
5. มาตรการส่งเสริมให้เกิดการกระจายการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น การตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่และให้สิทธิประโยชน์พิเศษ
6. การส่งเสริมให้ SMEs เข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain ของอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ หรือ SUBCON THAILAND ซึ่งปี 2566 มีการจับคู่ธุรกิจกว่า 8,500 คู่ สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 20,000 ล้านบาท
7. การส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ไปลงทุนในต่างประเทศ โดย BOI ทำงานบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เน้นการให้คำปรึกษา จัดหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thai Oversea Investment Support Center: TOISC)
"นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของ SMEs ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ เชื่อมั่นว่า SMEs ไทยจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม และขอบคุณการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ช่วยดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลอย่างเหมาะสม" นายอนุชาฯ กล่าว