กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.30-34.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.55-34.92 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางแคนาดา กลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง และผู้ร่วมตลาดคาดว่าธนาคารกลางทั้งสองแห่ง มีแนวโน้มคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อสูงยื้ดเยื้อ
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดัน หลังสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง สะท้อนความอ่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาในระยะนี้ โดยนักลงทุนต่างชาติ ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 844 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 2,699 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองภาพรวมในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 13-14 มิ.ย. ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ขณะที่จุดสนใจจะอยู่ที่ประมาณการดอกเบี้ยโดยเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) ซึ่ง BAY คาดว่าค่ากลางการคาดการณ์สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะใกล้เคียงกับที่เฟดเคยให้ไว้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ 5.1% สำหรับสิ้นปีนี้ และ 4.3% สิ้นปีหน้า
อย่างไรก็ดี เฟดอาจจะเปิดช่องไว้ เพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป บนเงื่อนไขที่ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งล่าสุด ยังไม่ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) มีแนวโน้มคงนโยบายในวันที่ 16 มิ.ย. อนึ่ง BAY คาดว่าดอลลาร์อาจย่อลงหากเฟดคงดอกเบี้ย แต่แรงขายจะถูกจำกัดกรณีอีซีบีแสดงท่าทีระมัดระวังมากขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤษภาคมของไทย เพิ่มขึ้น 0.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 1.55% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.จะชะลอต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เรารู้สึกค่อนข้างประหลาดใจที่ ธปท.ระบุว่าต้องการให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ระดับปกติ (Normalization) ยังดำเนินต่อไป โดยผู้ดำเนินนโยบายให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างสมดุลของ Policy Space ในระยะข้างหน้า