สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.0 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของด่าดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยลบจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองหลังเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอน และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลง จาก 105.0 ในเดือนเม.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง
ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อาทิ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเสริมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น
2. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก
3. เร่งให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเพียงตัวเดียวคือการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 30 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 2 ล้านล้านบาท
ขณะที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและอียู แม้จะหันมาพึ่งพิงการส่งออกไปตลาดจีนที่ภาวะเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่เพื่อทดแทนก็ตาม แต่เริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยไปจีนแล้ว โดยปริมาณการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเริ่มหดตัว ขณะที่ค่าเงินบาทนั้นแม้จะอ่อนค่าแต่ยังมีความผันผวนสูง
อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเกินกว่าไทม์ไลน์ในเดือน ส.ค. 66 ออกไปถึงสิ้นปีนี้จะส่งผลให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 ล่าช้าออกไป ซึ่งจะขาดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาที่รุมเร้า เช่น วิกฤตราคาพลังงาน สถานการณ์เอลนีโญ จะยิ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่ กกร.เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.0-3.5% ลดลงเหลือ 2.0-2.5% รวมทั้งอาจเกิดปัญหาความไม่สงบ
"แค่นี้ก็แย่แล้ว หวังว่าทุกอย่างจะกลับมา โดยหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีทองของเศรษฐกิจไทย" นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท. พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด เพียงแต่หวังว่ากระบวนการจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เพราะมีหลายปัญหาที่รอการแก้ไข