กนง.แจงทยอยขึ้นดอกเบี้ยสอดคล้องเศรษฐกิจ เกาะติดนโยบายขึ้นค่าแรงรัฐบาลใหม่กดดันเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2023 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสสูงมากกว่าคาด โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงส่งสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี และเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านสูงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจมากกว่าคาด และจากนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการทางการคลังของรัฐบาลที่อาจทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวมากกว่าที่ประเมินไว้โดยเฉพาะในปี 2567 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง และคาดว่าจะมีความหนืด (persistence) มากขึ้นกว่าในอดีต การส่งผ่านต้นทุนอาจมากขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการจะพยายามปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่มากขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐอาจดำเนินการในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดอาหารสดมีความหนืดมาก ขึ้น โดยราคาอาจสูงขึ้นบ่อยครั้งและปรับลดลงยาก อาทิ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจทำให้ปัญหาภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าอดีต ซึ่งจะกระทบต่อราคาผักและผลไม้ อีกทั้งต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้เลี้ยงที่ลดลงทำให้ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นโดยเฉพาะสุกร ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนที่มากขึ้นและราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อและพฤติกรรมการตั้งราคาในอนาคตได้

คณะกรรมการฯ เห็นว่าพลวัตเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐโดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจทำให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างไปยังราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น

รายงาน ยังเปิดเผยว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยอิงกับเงินเฟ้ออย่างเป็นระบบมากขึ้น (wage indexation) อาจสร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างและราคาสินค้าในลักษณะที่เป็นวงจรต่อเนื่อง (wage-price spiral) จนมีนัยต่อเสถียรภาพราคาในระยะยาวได้

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกจำกัดด้วยคุณลักษณะเฉพาะของโครงสร้างตลาดแรงงานไทย ได้แก่

(1) ตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูงจากอุปทานของแรงงานต่างด้าวและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคเศรษฐกิจ

(2) แรงงานไทยมีอำนาจการต่อรอง (bargaining power) ไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

(3) ธุรกิจไทยมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพียง 15% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การส่งผ่านต้นทุนแรงงานไปยังราคาจึงไม่มากนัก

(4) ผู้มีรายได้จากค่าจ้างของไทยมีสัดส่วนเพียง 45% ของแรงงานทั้งหมด ต่ำกว่าสัดส่วนในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษซึ่งอยู่ที่ประมาณ 90% ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างของไทยคาดว่าจะส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวมและการปรับขึ้นราคาในลักษณะที่เป็นวงจรต่อเนื่องไม่มากเท่ากรณีของต่างประเทศ

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามนโยบายภาครัฐและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งผลกระทบต่อค่าจ้าง ในตลาดแรงงาน พฤติกรรมการตั้งราคาของผู้ประกอบการ และการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป (gradual and measured policy normalization) ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยประเมินว่าแม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงมา

แต่แนวโน้มเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทานรวมถึงนโยบายภาครัฐในระยะข้างหน้า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ และมีประสิทธิผลมากกว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากพฤติกรรมการปรับราคาได้เปลี่ยนไปแล้ว ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนัยต่อการฟื้นตัวของกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

"กนง. จึงเห็นควรมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี เพื่อเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้" รายงาน ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ