ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) อีกครั้ง ในส่วนที่มีการเพิ่มรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th
ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น โดยได้รับความเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์และแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในภาพรวม และมีการสอบถามรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในหลายมิติ ซึ่งบางประเด็นมีความสำคัญ และอาจกระทบการตัดสินใจ หรือการออกแบบแผนงานของผู้สมัคร รวมถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจของ Virtual Bank ที่จะถูกจัดตั้ง
ดังนั้น ธปท. จึงนำความเห็นที่ได้รับ มาปรับปรุงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยขยายความในประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครทุกรายได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่างเพียงพอ และเท่าเทียมกัน
โดย ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับ มาประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566
1. สิ่งที่อยากเห็น (green line) และสิ่งที่ไม่อยากเห็น (red line)
ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ธปท. อยากเห็น Virtual Bank ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม โดยจัดให้มีกลไกที่รองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย อันสอดคล้องกับแนวนโยบายการเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) ของ ธปท. และไม่อยากเห็น Virtual Bank กีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการส่งหรือโอนข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย
2. คุณสมบัติสำคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ขยายความให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
2.1 ด้านธรรมาภิบาล เพิ่มรายละเอียดว่า ห้ามมิให้กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของ Virtual Bank ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของสถาบันการเงินแห่งอื่นในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้บุคลากรดังกล่าว สามารถอุทิศเวลาในการบริหารจัดการงานได้อย่างเต็มที่
2.2 ด้านการใช้เทคโนโลยีและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มรายละเอียดว่า Virtual Bank ต้องไม่ใช้งานระบบ IT ที่สำคัญร่วมกับสถาบันการเงินรายอื่น เช่น ระบบ Core Banking ระบบ Mobile Banking และระบบ Internet Banking เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงและการพึ่งพาระหว่างกัน (contagion risk) ข้อมูลรั่วไหล และภัยคุกคามด้านไซเบอร์
2.3 ด้านการเข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพิ่มรายละเอียดว่า ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องแสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล (data governance) และความสามารถในการพัฒนาระบบข้อมูล และการเชื่อมต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในการนำข้อมูลของตนไปใช้ทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่น
3. การคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้จัดตั้ง Virtual Bank
เพิ่มรายละเอียดว่า ธปท. จะคัดเลือกองค์ประกอบของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงการช่วยตอบโจทย์ green line ได้อย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวม
4. เงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเงื่อนไขการดำเนินกิจการในช่วง 3-5 ปีแรกของ Virtual Bank (ช่วง phasing) ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีนัยต่อความสำเร็จของ Virtual Bank เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันควร เนื่องจากผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจในช่วงเริ่มต้นกิจการ