กทม.จี้ทบทวนภาษีที่ดิน อุดช่องโหว่เอื้อรายใหญ่เลี่ยงภาษี-แก้รายได้ลด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 19, 2023 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทม.จี้ทบทวนภาษีที่ดิน อุดช่องโหว่เอื้อรายใหญ่เลี่ยงภาษี-แก้รายได้ลด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวเปิดเวทีสาธารณะในหัวข้อ "ชำแหละกฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น" ว่า ความไม่สมเหตุสมผลของการแบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้ภาษีที่จัดเก็บได้มีมูลค่าลดลง เช่น รายได้จากอพาร์ตเมนต์ และห้องเช่า มีการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง รวมถึงมีการปรับหลักเกณฑ์ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ส่งผลให้ที่ดินขนาดใหญ่บางแปลง มีมูลค่าการประเมินทุนทรัพย์ที่ดินลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินของผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่นำมาทำห้างสรรพสินค้าที่ได้รับประโยชน์ และทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง

นอกจากนี้ การประเมินภาษีที่ดินบางประเภท ส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน ทำให้เกิดผลเสียกับเมือง เช่น บ่อน้ำถูกประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดียวกับที่อื่นๆ หรือที่รกร้างว่างเปล่า ทำให้เจ้าของพื้นที่อาจมีการถมบ่อเพื่อไปทำธุรกิจมากขึ้น เพื่อไม่ต้องเสียภาษี

กฏหมายส่งผลให้เกิดช่องว่างในการใช้ประโยชน์ประเภทเกษตรกรรมที่มิใช่เกษตรที่แท้จริง "เกษตรจำแลง" เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จากปี 65 มีพื้นที่เกษตรจำแลง 21,841 แปลง แต่ปี 66 มีพื้นที่เกษตรจำแลงเพิ่มขึ้น 30,553 แปลง เพราะอัตราภาษีที่ดินรกร้าง อยู่ที่ 0.3% แต่อัตราภาษีที่ดินเกษตร 0.01%

นายชัชชาติ กล่าวว่า การยกเว้นและลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา จากการยกเว้นการจัดเก็บภาษี 90 % ทำให้ กทม.ขาดรายได้ ประมาณ 25,000 ล้านบาท และมีการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ในโครงการศูนย์ราชการ ทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้

นายวีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายท้องถิ่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า กฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เขตเมืองได้รับอานิสงส์ที่การจัดเก็บภาษีลดลง แต่คนที่แบกรับภาษีเพิ่มขึ้น คือ พื้นที่ในชนบท และคาดการณ์ว่า รายได้ภาษี 66 มีโอกาสทำให้รายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป มีโอกาสทำให้ฐานรายได้ท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ฐานภาษีลดลง โดยเฉพาะในเขตเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ น่าจะมาจากกรณีการกำหนดคำนิยาม "สิ่งปลูกสร้าง" ที่แคบเกินไป ยกตัวอย่าง เสาสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้ฐานภาษีเดิมหายไปประมาณ 1,500 ล้านบาท และกรณีการยกเว้น "มูลค่าฐานภาษี" ที่สูงเกินไป ทำให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงการตีความ ที่อยู่อาศัย ให้รวมถึงกิจการประเภทหอพัก ห้องเช่า บ้านเช่า ทำให้ธุรกิจห้องเช่า ห้องพัก เสียภาษีลดลงจาก 0.3% เป็น 0.02%

ส่วนข้อดีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีโอกาสเพิ่มฐานภาษีให้กับท้องถิ่น และเพิ่มฐานรายได้แหล่งใหม่ๆ ซึ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ต้องถูกประเมินและจัดเก็บภาษี และคาดว่าจะทำให้รายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ราว 300 ล้านบาทต่อปี

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ควรปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วนใน 100 วัน คือ การปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกฏหมายลำดับรองเกี่ยวกับคำนิยาม หรือแนวปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางภาษี และส่งผลเสียต่อฐานรายได้ของท้องถิ่นในระยะยาว

ส่วนการแก้ไขระยะ 1-2 ปี ต้องมีการทบทวนอัตราภาษี และประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับกฏหมายแม่บท และสร้างระบบฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ข้อมูลของรัฐร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษี การจัดการกรรมสิทธิ์ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

น.ส.ดวงมณี เลาวกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า รายได้ภาษีและสิ่งปลูกสร้างลดลงจากภาษีเดิม โดยเฉพาะในเขตเมือง เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านให้เช่า คอนโดมิเนียมให้เช่า หอพัก อพาร์ทเม้นท์ จึงควรมีการเก็บภาษีในอัตราเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเจ้าของใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ศูนย์การค้าและโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีการปรับอัตราภาษีให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยสามารถกำหนดอัตราภาษีตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวม

1.ควรลดการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและอยู่อาศัย เป็น 3-5 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับกรณีที่มีบ้านหลายหลัง แต่มูลค่าแต่ละหลังไม่มาก และเป็นการาขยายฐายภาษีให้กับอปท. มีรายได้ภาษีที่มากขึ้น การยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรในมูลค่าที่สูงเกินไป ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่รกร้างว่างเปล่า หลีกเสี่ยงภาษีมาสู่ช่องทางนี้

2.ควรยกเว้นภาษีให้กับผู้ทำเกษตรกรรมให้ครอบคลุมที่ดินทุกประเภท และทบทวนการประเมินภาษี สำหรับที่ดินตามนโยบายรัฐ เช่น โฉนดชุมชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี

3.ควรจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับการให้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ในอัตราภาษีประเภทอื่นๆ เหมือนกิจการพาณิชย์ทั่วไป

4.ภาระภาษีและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างน้อย จึงยังสามารถปรับอัตราภาษีที่ใช้ในการจัดเก็บจริงให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ได้ รวทั้งการกำหนดอัตราภาษีให้แตกต่างกันตามเงื่อนไขแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์

5.ควรมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามควรแก่สภาพให้มีความชัดเจน เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี และมิให้ที่ดินรกร้าง ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรไม่เป็นจริง

6.ทบทวนนิยามสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี ว่าควรครอบคลุมสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ ทางขึ้น-ลง ของอากาศยาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ