นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยว "มูเตลู" หรือการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา กำลังได้รับความสนใจในตลาดโลก และประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวที่เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมอันโดดเด่น เชื่อมโยงไปถึงอัตลักษณ์ ความเชื่อของท้องถิ่นที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวสายศรัทธาได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของการท่องเที่ยวสายมู จะเข้ามาช่วยเพิ่มการใช้จ่ายต่อทริปมากขึ้น จากการเดินทางที่มากขึ้น อาทิ ไหว้พระ 9 วัด เป็นต้น
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2562 การท่องเที่ยวเชิงแสวงบุญ สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบสูงสุดถึง 10,800 ล้านบาท โดยปีนี้คาดรายได้จากการท่องเที่ยวสายมูจะไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท โต 10-20% จากปี 62 ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Future Market Insight 2023 พบว่าการท่องเที่ยวเชิงศรัทธามีแนวโน้มในการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3เท่าภายใน 10 ปี จากมูลค่ากว่า 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2576
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ททท. จึงได้จัดทำโครงการ "เสริมพลังบุญ หนุนพลังใจ" นำเสนอภายใต้แนวคิด "เปิดจักรวาลสายบุญ" มุ่งเน้นนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่มีคุณค่า และความหมายให้แก่นักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) โดยจะมีการรวบรวมสินค้าท่องเที่ยวกลุ่มศรัทธาความเชื่อ และภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของประเทศไทย ประกอบด้วย ศาสนสถานวัด สิ่งเคารพและศรัทธา วัฒนธรรมและภูมิปัญญา และการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ซึ่งกำหนดนำเสนอผ่านการจัดกิจกรรม "อะเมซซิ่ง มูติเวิร์ส (Amaing Mutiverse) : เปิดจักรวาลสายบุญ" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2566 ณ ลานสแควร์ B หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เปิดพื้นที่รวมตัวพลังสายบุญของเมืองไทยมาไว้ในงานเดียวกัน ภายในงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. โซน 12 เส้นทางท่องเที่ยวเสริมพลังบุญ หนุนพลังใจ
2. โซนตลาดสายมู พบกับบูธหมอดูชื่อดังจากสมาคมโหราศาสตร์ ของศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคล
3. โซนกิจกรรมบนเวที สนุกสนานกับศิลปินชื่อดังของเมืองไทย และกิจกรรม Guru Talk เสริมสิริมงคลชีวิตให้ปัง กับหมอดูสุดฮอตแห่งปี
นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ททท. ยังได้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว 12 เส้นทาง ท่องเที่ยวเสริมพลังบุญหนุนพลังใจ โดยได้รวบรวมศาสนสถาน วัด สิ่งเคารพและศรัทธาทั่วไทย เพื่อปักหมุดเส้นทางขอพรพระเสริมสิริมงคล พร้อมด้วยสถานปฎิบัติธรรมที่จะพาทุกคนไปสงบจิตสงบใจพร้อม Social Detox ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วไทย ในรูปแบบของ E-book ได้แก่
- ภาคเหนือ นำเสนอ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเพลินเมืองแพร่ เที่ยววัดขลังเสริมพลังกายพลังใจ จ.แพร่ , เส้นทางเยือนพะเยา กราบพระเจ้าตนหลวงเสริมมงคล ดลบันดาลทุกความปรารถนาจังหวัดพะเยา และเส้นทางเชียงใหม่ อิ่มบุญอุ่นใจ๋ ไหว้พระปฏิบัติธรรม ขอพรสำเร็จทุกปรารถนาจังหวัดเชียงใหม่
- ภาคกลาง นำเสนอ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางศรัทธามหานครโชคลาภพุ่ง โชคเลิฟทะยานกรุงเทพ , เส้นทางสระบุรี สร้างบารมีเสริมสิริมงคล สักการะหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ตระการตาเขาพรหมสวรรค์ จังหวัดสระบุรี และเส้นทางสุพรรณบุรี พลังบารมีศรีสุพรรณภูมิ ต่อโชคต่อลาภรับสิริมงคลจังหวัดสุพรรณบุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางบึงกาฬ อลังการทิวทัศน์ อัศจรรย์นาคา กราบไหว้หลวงปู่อือลือนาคราช จังหวัดบึงกาฬ และเส้นทางอิ่มบุญแดนอุบล ยลแสงแห่งธรรม ตามรอยอารยธรรมเรืองแสงแห่งลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก นำเสนอ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแก้ชงครบองค์มังกร แก้ชง 3 จังหวัดกรุงเทพ- ฉะเชิงเทรา-จันทบุรี และเส้นทางฉะเชิงเทรา เสริมพลังชีวิตเราให้งานรุ่งเงินโรจน์ สักการะพระพิฆเนศ 3 ปาง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ภาคใต้ นำเสนอ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางภูเก็ตเก็บแต้มบุญ หนุนแต้มดวง สักการะ 4 ศาล เสริมชะตา 4 ด้าน จังหวัดภูเก็ต และเส้นทางมนตราเมืองตรัง เสริมดวงเสริมพลัง สัมผัสเสน่ห์อันซีนเมืองตรัง
"หลายฝ่ายกังวลเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จึงผลักดันการท่องเที่ยวสายมู โดยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว ลากไปยังชุมชน ส่งผลให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และการกระจายรายได้" นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ส่วนกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ในการท่องเที่ยวสายมู คาดว่าน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศแถบเอเชียมากกว่าฝั่งตะวันตก เนื่องจากประเทศในเอเชียได้รับอิทธิพลความเชื่อเหมือนกัน โดยคาดว่านักท่องเที่ยวสายมูจะมาจาก 5 ประเทศอันดับแรก ดังนี้ 1. จีน 2. มาเลเซีย 3. สิงคโปร์ 4. ฮ่องกง และ 5. อินเดีย หรือมองว่าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีเชื้อสายจีนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนอยู่ระหว่างแก้ปัญหาที่ติดขัดต่างๆ
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ททท. อยู่ระหว่างการทำให้กระบวนการในการพิจารณาให้วีซ่าเร็วขึ้น เพื่อโอกาสในการทำธุรกิจที่จะมากขึ้นด้วย ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้กระบวนการพิจารณาไม่เกิน 5 วัน จากเดิมที่ไม่เกิน 15 วัน